ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

บทความ : อาชีพสงวนใหม่ 12 อาชีพที่ต่างด้าวสามารถทำได้

วันที่ลงข่าว: 03/07/18

           พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกำหนดอาชีพสงวนใหม่ คือ ให้คนต่างด้าวทำได้ 12 อาชีพ 3 แบบ คือ

แบบไม่มีเงื่อนไข 1 อาชีพ ได้แก่ กรรมกร

          แบบมีเงื่อนไข คือ ต่างด้าวต้องเป็นลูกจ้าง เป็นงานที่ขาดแคลนแรงงาน อนุญาตให้ทำได้เท่าที่จำเป็น โดยไม่กระทบต่อโอกาสการมีงานทำของคนไทย 8 อาชีพ ได้แก่ กสิกรรม เลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรือประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญงานเฉพาะสาขา ควบคุมดูแลฟาร์ม, ก่ออิฐ ช่างไม้ หรือก่อสร้างอื่น, ทำที่นอน ผ้าห่มนวม, ทำมีด, ทำรองเท้า, ทำหมวก, ประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย และปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา

แบบมีเงื่อนไขตามข้อตกลงระหว่างประเทศอาเซียน ซึ่งคนต่างด้าวต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามกฎหมายไทยก่อนขอรับใบอนุญาตทำงาน 3 อาชีพ ได้แก่ บัญชี ควบคุม ตรวจสอบ ปฏิบัติงานหรือให้บริการทางบัญชี ยกเว้นตรวจสอบภายใน เป็นครั้งคราว งานตามข้อตกลงหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพัน โดยที่สภาวิชาชีพบัญชีเป็นผู้ให้การรับรองคุณสมบัติ, วิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธาที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการ ทดสอบ ควบคุมการก่อสร้างหรือให้คำแนะนำ ยกเว้นผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวกับการให้บริการวิศวกรรมข้ามแดน หรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธาตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรรม, งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ยกเว้นผู้ประกอบวิชาชีพตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน

         ส่วนอาชีพสงวนห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาดมี 28 อาชีพ คือ แกะสลักไม้, ทอผ้าด้วยมือ, ทอเสื่อ, ทำกระดาษสาด้วยมือ, ทำเครื่องเงิน, ทำเครื่องดนตรีไทย, ทำเครื่องถม, ทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก, ทำเครื่องลงหิน, ทำตุ๊กตาไทย, ทำบาตร, ทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ, ทำพระพุทธรูป, ทำร่มกระดาษหรือผ้า, เรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ, สาวหรือบิดเกลียวไหมด้วยมือ, ขับรถ, ขายของหน้าร้าน, ขายทอดตลาด, เจียระไนเพชรหรือพลอย, ตัดผม ดัดผม หรืองานเสริมสวย, นายหน้า หรืองานตัวแทน ยกเว้นงานนายหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าหรือการลงทุนระหว่างประเทศ, มวนบุหรี่ด้วยมือ, มัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยว, เร่ขายสินค้า, เสมียนพนักงานหรือเลขานุการ และให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี ยกเว้นงานปฏิบัติหน้าที่อนุญาโต หรืองานให้ความช่วยเหลือหรือทำการแทนในการดำเนินกระบวนการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ และนวดไทยเป็นงานเพิ่มขึ้นมาใหม่

ในส่วนงานขายของหน้าร้าน ต่างด้าวทำได้แค่เสิร์ฟและช่วยขายของ แต่ห้ามเก็บหรือ ทอนเงิน เฝ้าร้านแทนนายจ้างได้แค่ชั่วคราวและต้องมีนายจ้างอยู่ด้วย ส่วนร้านเสริมสวย ทั้งร้านตัดผมและทำเล็บ ต่างด้าวทำได้แค่ปัดกวาดเช็ดถูภายในร้านและล้างเท้าหรือล้างมือได้เท่านั้น ห้ามตัดผม สระผม ตัดเล็บ ทาเล็บเด็ดขาด

          ซึ่งหลังจากประกาศพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ จะทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่เป็นเวลา 1 เดือน ในช่วงนี้จะบังคับใช้กฎหมายเฉพาะในส่วนของต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาต และที่ผ่อนผันให้ต่างด้าวที่ทำงานห้ามทำเท่านั้น จากนั้นในเดือนสิงหาคมจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ.

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก