ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“ไม่เคยน้อยใจในโชคชะตา” ความในใจเด็กหนุ่มนักดนตรีไร้แขน

วันที่ลงข่าว: 15/01/13

 

นักกีฬาคนพิการแขนขาด 2 ข้าง ยังว่ายน้ำได้เก่งกว่าผมที่มีแขนข้างเดียว ดังนั้นเมื่อเรามีความตั้งใจที่จะทำ ความสำเร็จไม่เกิดจากว่าคุณจะมีแขนกี่ข้าง กำลังใจเริ่มที่ตัวเราเสมอ น้ำเสียงที่เอ่ยด้วยแววตาที่เป็นประกาย “กี้” นายสิทธิศักดิ์ อมรศักดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาดุริยางค์สากล คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี มือเป่าทรัมเป็ต วงดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยฯ พิการแขนทางด้านซ้าย มาตั้งแต่ 8 ขวบ

       

       “กี้” เล่าว่า พ่อและแม่แยกทางกันตั้งแต่เด็กๆ ต้องมาอาศัยอยู่กับย่า แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้นกับชีวิต “คุณย่าได้เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุบนท้องถนน คุณย่าจูงผมข้ามถนนเพื่อไปส่งที่โรงเรียน รถยนต์มาจากไหนไม่รู้วิ่งเข้ามาชนคุณย่าของผม ในขณะที่มือของย่าได้จูงมือขวาของผม แรงชนของรถทำให้รถกระฉากแขนซ้ายของผมขาด” เป็นเหตุการณ์ที่ผมไม่มีวันลืม ย่าบุคคลที่เป็นทั้งพ่อและแม่ของผม หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น ผมมีแขนขวาเพียง 1 ข้าง แต่ตอนนั้นผมไม่รู้สึกว่าขาดแขนขวาไปเลย ยังใช้ชีวิตปกติ เหมือนกับคนอื่น คิดเสมอว่า อยากทำอะไรเหมือนคนปกติที่คนมีแขน 2ข้างทำได้”

       

       หลังจากที่ย่าเสียชีวิตลง น้าและป้าเป็นคนส่งเรียน เนื่องจากพ่อมีอาชีพหาเช้ากินค่ำ “พ่อผมขับแท๊กซี่ ส่วนแม่ไม่เคยเห็นหน้าแม่และไม่รู้ว่าแม่เป็นใคร หลังจากที่จบชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิทั้งมัธยมต้นและมัธยมปลาย ส่วนตัวเป็นคนที่รักในเสียงเพลง ตอนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 จึงเข้าสมัครเป็นสมาชิกวงโยธวาทิตประจำโรงเรียน ตอนนั้นมีหน้าที่ตีกลอง ได้เข้าร่วมประกวดแข่งขันกับโรงเรียนหลายรายการ ความฝันในการประกอบอาชีพ คุณครูสอนดนตรี”

       

       หลังจากจบมัธยมปลาย จึงสอบเข้าศึกษาต่อที่ สาขาดุริยางค์สากล คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เริ่มแรกที่เข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย กี้ เลือกเอกกลอง คือ กลองใหญ่ (เบรกดัม) แต่เมื่อดูความเหมาะสมของร่างกาย ครูจึงแนะนำให้ลองเล่นทรัมเป็ต “ผมใช้มือซ้ายเป็นตัวประคอง ส่วนมือขวากดโน๊ตเมโลดี้ กว่า 1 ปี ที่เข้ามาศึกษาต้องหัดเป่าทรัมเป็ต ความยากของการเป่าทรัมเป็ตคือการห่อปากของแต่ละโน๊ต แต่อย่างที่บอกไม่มีอะไรเกินความตั้งใจ สุดท้ายทรัมเป็ตกลายเป็นเครื่องดนตรีประจำตัวผม เข้าร่วมแข่งขันกับวงดุริยางค์ของมหาวิทยาลัยฯ ได้รับรางวัลเช่น รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ประเภท Junior Division การประกวดวงโยธวาทิต ธนาคารกรุงเทพ - ยามาฮ่าแห่งประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน ฯ ประจำปี 2555 รางวัลชมเชย รุ่นไม่เกินระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 การประกวดวงโยธวาทิต ทรูวิชั่น - ยามาฮ่าแห่งประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน ฯ ประจำปี 2554”

       

       ปัจจุบันน้าและป้าเป็นคนดูแลและส่งให้กี้เรียน อีกทั้งยังเป็นพระมหากรุณาธิคุณได้รับทุนการศึกษา กองทุนพระราชกุศลสำหรับการศึกษา สวนจิตรลดา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่กี้โดนรถชน จนจบปริญญาตรี โดยภาคการศึกษาละ 20,000 บาท รายเดือนตอนมัธยมเดือนละ 2,000 บาท อุดมศึกษาเดือนละ 3,000 บาท เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของน้าและป้า เนื่องจากท่านทั้งสองต้องส่งลูกของท่านเรียนเหมือนกัน

       "ผมพยายามหางานพิเศษทำ เริ่มสมัครเป็นยามช่วงปิดเทอมตอนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ได้ค่าตอบแทนวันละ 250 บาท เด็กแจกใบปลิวตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 ได้วันละ 300 บาท พอขึ้นชั้นปีที่ 2 จนถึงปัจจุบัน กี้ เริ่มทำงานพิเศษด้วยการเป็นวิทยากรพิเศษสอนวงดุริยางค์ตามโรงเรียนต่างๆ สอนทุกวันอาทิตย์เวลา 09.00 - 17.00 น. ค่าตอบแทนวันละ 300 - 500 บาท ตัวเงินไม่ใช่ค่าตอบแทนที่สำคัญ บางโรงเรียนอาสาสอนฟรี คิดว่าเป็นการฝึกฝีมือของตัวเราเอง ในอนาคตต้องออกไปเป็นคุณครู สอนเป่าทรัมเป็ต สอนตีกลอง การเดินแถว เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยถือเป็นประสบการณ์ที่ดีในการใช้ชีวิต เกรดเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 2.95

       

       เวลาที่ผมท้อปมจะสร้างกำลังใจให้ตัวเองเสมอ กำลังใจมันเริ่มที่ตัวเราเสมอ” เวลาว่างนอกจากเล่นดนตรี เล่นกีฬา ฟุตบอล ตีแบต เวลาว่างจะใช้โปรแกรม “Sibelius 6” ทำโน้ตเพลงไว้ใช้เล่น สิ่งที่แอบภูมิใจ คือ ผมได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของวงดุริยางค์ที่ มทร.ธัญบุรี”

       

       ท้ายนี้ เราถามว่าอายหรือเปล่าที่เหลือแขนอยู่ข้างเดียว กี้ตอบอย่างมั่นใจว่า ตั้งแต่แขนขาดทุกอย่างเหมือนเดิม เพื่อนๆ ก็เหมือนเดิม มันอยู่ที่ตัวเราจะมองมากกว่า คิดอยู่เสมอ แขนขาดข้างเดียว ชีวิตไม่ได้ลำบาก ถ้าเรามีความพยายาม ชีวิตคนเราเหมือนดนตรี ทำให้มันมีจังหวะ จังหวะที่ค่อยเป็นค่อยไป

       

       “เวลาที่ผมท้อจะนึกถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ต้องสนใจว่าอดีตจะเป็นอย่างไร ไม่ต้องสนใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อยังมาไม่ถึง ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด และสิ่งดีๆ ทุกอย่างจะตามมาเอง” เป็นเรื่องจริงถ้าทำที่ท่านบอกทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องจริง”

       

       กี้ บอกต่อว่า สิ่งที่อยากทำมากที่สุด อยากเจอแม่ อยากรู้ว่าแม่เป็นใคร หน้าตาเหมือนตนหรือเปล่า "ผมรู้แต่ว่า ผมอยากเจอแม่ ถึงแม่จะไม่อยากเจอหรือว่าเหตุผลอะไรก็ตาม เพียงผมอยากจะเจอท่าน สิ่งที่มีหลักฐานคือใบแจ้งเกิด ถ้าผมมีโอกาสผมจะเดินทางไป จ.อุบลราชธานี ถึงจะมีเพียงใบแจ้งเกิดก็ตาม ตอนนี้อายุ 23 ปี อีก 1 ปี ข้างหน้าจะสำเร็จการศึกษา ผมจะทำงานเลี้ยงพ่อ และตอบแทนบุญคุณของน้าและป้า

       และสิ่งสำคัญที่สุด ผมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ท่านทรงพระราชทานทุนการศึกษาให้แก่ผม ถ้าไม่มีท่านผมคงไม่ได้รับการศึกษา ถ้าทุกคนมีความตั้งใจ สร้างกำลังใจด้วยตนเอง อย่าท้อแท้ เพราะว่า ความท้อแท้จะทำให้ชีวิตมีความลำบาก ให้คิดว่าความท้อแท้เป็นเครื่องของความสำเร็จในอนาคต ตั้งใจและมั่นคง แล้วคุณจะชนะ ผมไม่เคยน้อยใจในโชคชะตา” น้องกี้กล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

ภาพประกอบข่าวประจำวัน

^ กลับสู่เนื้อหาหลัก