ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

บทความ : การแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน (ASEAN Skills Competitions)

วันที่ลงข่าว: 06/06/18

          ความเป็นมาของการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน (ASEAN Skills Competitions) สำนักงานโครงการพัฒนาฝีมือแรงงานแห่งภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ได้จัดประชุมประเทศสมาชิกในปี 2536 ณ เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น และตกลงให้มีการแข่งขันฝีมือแรงงานระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนขึ้น เพื่อเป็นกิจกรรมหนึ่งของประเทศสมาชิก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพและค่านิยมที่ดีของการทำงานในกลุ่มเยาวชนและแรงงานฝีมือ อีกทั้งให้ร่วมมือในการศึกษาและฝึกอบรมด้านอาชีพ กระตุ้นให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม องค์กรนายจ้างและลูกจ้าง อีกทั้งสถานศึกษาด้านวิชาชีพต่าง ๆ และเพื่อเป็นเวทีที่สร้างการยอมรับความเป็นเลิศด้านฝีมือ ช่วยพัฒนาแรงงานรุ่นใหม่ให้มีฝีมือในระดับสูง โดยประเทศสมาชิกได้กำหนดข้อตกลงเบื้องต้นของการแข่งขัน ดังนี้.-

          จัดการแข่งขันทุก 2 ปี โดยประเทศสมาชิกหมุนเวียนกันลงมติเลือกประเทศที่จะรับเป็นเจ้าภาพ

แบบแข่งขัน (Test Projects) ประเทศสมาชิกอาเซียนตกลงร่วมกันใช้แบบการแข่งขันครั้งล่าสุดขององค์การการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ แบบแข่งขันของทุกสาขา จัดทำขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศสมาชิก เนื้อหาจะสะท้อนถึงเทคโนโลยีล่าสุดและความต้องการทักษะแรงงานของตลาดโลก โดยเชื่อว่าผู้ที่ทำแบบแข่งขันได้ย่อมทำงานในสถานประกอบการได้เช่นกัน แบบแข่งขันของ WorldSkills มีการปรับปรุงแก้ไขทุกครั้งที่มีการแข่งขันใหม่ แบบแข่งขันของ WorldSkills ครั้งล่าสุด จึงเป็นวิธีการที่ดีที่ช่วยให้เยาวชนในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ฝึกฝนให้ก้าวทันกระแสโลกอยู่เสมอ ผู้แข่งขันต้องมีอายุไม่เกิน 22 ปี ส่งเข้าแข่งขัน ได้ไม่เกินสาขาละ 2 คน ระยะเวลาแข่งขัน 3 วัน (ภายในระยะเวลา 15-18 ชั่วโมง)

          การแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อปี 2538 ณ ประเทศมาเลเซีย ไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขัน 6 สาขา ได้รับเหรียญทองช่างเชื่อมไฟฟ้า เหรียญเงินช่างซ่อมรถยนต์ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างไม้(ก่อสร้าง) และประกาศนียบัตรช่างเชื่อมไฟฟ้า จนถึงปัจจุบันจัดการแข่งขันแล้วเป็นครั้งที่ 11 เมื่อปี 2559 ณ ประเทศมาเลเซียเช่นกันกับครั้งแรก ซึ่งไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันใน 17 สาขา ได้รับรางวัลทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง เหรียญฝีมือ และรางวัลฝีมือยอดเยี่ยม

การแข่งขันฝีมือแรงงาน เป็นกระบวนการหนึ่งของการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล กระตุ้นการพัฒนาศักยภาพแรงงานอันนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศบนเวทีโลก รวมทั้งเป็นเวทีให้เยาวชนได้แสดงความสามารถด้านทักษะฝีมือในการประกอบวิชาชีพในสาขาต่าง ๆ ทั้งนี้ เยาวชนที่ผ่านการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติจะมีโอกาสเข้ารับการเก็บตัวฝึกซ้อม และการคัดเลือกเยาวชนไปเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน และการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติต่อไป โดยคณะอนุกรรมการเทคนิคการแข่งขันฝีมือแรงงานในแต่ละสาขาจะพิจารณาคัดเลือกจากผลคะแนนสูงสุด ในการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติตามลำดับ

 

เรียบเรียงโดย พรรณี ตั้งใจสถาปัตย์

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก