ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ศธ.จัดประชุมทีมขับเคลื่อน "ไทยนิยม ยั่งยืน" เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง-ความสุขของประชาชนเป็นสำคัญ

วันที่ลงข่าว: 05/06/18

          พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการจัดประชุมทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน" ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบลทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาเพื่อทบทวนการทำงาน รวมทั้งให้ทีมขับเคลื่อนทุกระดับได้ศึกษาและน้อมนำศาสตร์พระราชาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตลอดจนหลักการทรงงาน23 ประการของในหลวงรัชกาลที่9และเป็นไปตามพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่จะสืบสานรักษาต่อยอดสู่การปฏิบัติรวมทั้งนำชุดความรู้ที่ ศธ.จัดทำขึ้น ไปเผยแพร่สร้างความรับรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศพร้อมให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น อันจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องกับแนวคิดของรัฐบาลที่เน้น "ประชาชนเป็นศูนย์กลาง" และ "ความสุขของประชาชนเป็นสำคัญ"

          พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนสร้างพลังทางสังคมลดความเหลื่อมล้ำและกระจายโอกาสอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมโดยเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาชนภายใต้แนวคิด "ประชารัฐ"เพื่อนำการพัฒนาประเทศไปสู่Thailand4.0 โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Left No One Behind) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)

         คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2561 เห็นชอบกรอบหลักการโครงการ "ไทยนิยมยั่งยืน"ด้วยเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารงานในรูปแบบ“ไทยนิยมยั่งยืน” ก็เพื่อกหกกเพื่อบูรณาการงานของรัฐบาลและทุกกระทรวงโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนยึดถือความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญเน้นสร้างการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับประชาชนด้วยความตั้งใจเกิดความรักสามัคคีปรองดองเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นซึ่งจะส่งผลช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้น้อยลง

          จนกระทั่งวันที่ 9 ก.พ.61 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศนโยบายแนวทางขับเคลื่อนประเทศตามโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน"โดยมีกระทรวงมหาดไทย (มท.) ทำหน้าที่บูรณาการงานสำคัญร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการสร้างความรับรู้ สร้างความเข้าใจ ปรับกระบวนการทางความคิด เสนอแนวทางให้กับประชาชน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากขึ้นพร้อมทั้งกำหนดกรอบหลักการในการดำเนินการเพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน 10 เรื่อง คือ

"สัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง"เน้นสร้างความสามัคคีปรองดอง

"คนไทยไม่ทิ้งกัน"ด้วยการดูแลผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะผู้ลงทะเบียนในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ

"ชุมชนอยู่ดีมีสุข"มุ่งพัฒนาอาชีพ เสริมรายได้ให้ประชาชน

"วิถีไทยวิถีพอเพียง"ส่งเสริมการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใช้ในการดำเนินชีวิตทุกกลุ่มทุกช่วงวัย

"รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย"เน้นให้ประชาชนมีความรู้ในสิทธิ หน้าที่ และการเป็นพลเมืองที่ดี]

"รู้กลไกการบริหารราชการ"ที่ต้องการให้ประชาชนเข้าใจการบริหารราชการทุกระดับเพื่อมุ่งสร้างประโยชน์ให้ประชาชน

"รู้รักประชาธิปไตย ไทยนิยม"ให้ประชาชนเข้าใจหลักธรรมาภิบาล

"รู้เท่าทันเทคโนโลยี"ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องผ่านโครงการสำคัญ เช่นอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน

"ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด"บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจร

"งานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน"คือกำหนดกิจกรรมของส่วนราชการที่ลงไปปฏิบัติในพื้นที่

ทั้ง 10 เรื่อง ถือเป็นความสำคัญเร่งด่วนที่จะขยายผลเพื่อต่อยอดในเรื่องอื่นๆ ต่อไปให้ครอบคลุมทุกมิติ พร้อมทั้งได้กำหนดคณะกรรมการขับเคลื่อนงานออกเป็น 4 ระดับคือ ระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล

 

          ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สป428/2561 ลงวันที่ 28 ก.พ.2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงศึกษาธิการ  โดยกำหนดให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการเป็น 2 คณะ คือ "คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนฯ" มี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน และ ปลัด ศธ. เป็นเลขานุการ และ "คณะกรรมการนโยบายและแผนการขับเคลื่อนฯ" มี รมช.ศึกษาธิการ (พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) เป็นประธานกรรมการ และนายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการ ศธ. เป็นเลขานุการ

          ทั้งนี้ ศธ.ถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน" ตามกรอบหลักการทั้ง 10 เรื่องเพราะการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงการดำเนินงานในทุกระดับ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ในฐานะผู้รับผิดชอบการขับเคลื่อนโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน" ของกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดร่วมผนึกกำลังขับเคลื่อนการทำงาน ดังนี้

          ระดับจังหวัดสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เป็นหน่วยงานหลักในการทำงานและประสานงานร่วมกับผู้อำนวยการ กศน.จังหวัด เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ระดับจังหวัด

ระดับอำเภอกศน.อำเภอ ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงาน สถาบันการศึกษาครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการ ศธ.ในระดับอำเภอเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ระดับอำเภอ

ระดับตำบลคณะทำงานสนับสนุนอื่น ๆ ในตำบล 7-12 คน เช่น ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการ ศธ. ตัวแทนนักศึกษาในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครู กศน.ตำบลเข้าร่วมเป็นทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล

นอกจากนั้น ศธ.ยังได้เพิ่มเติมการทำงานในระดับภาคโดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค ทั้ง 6 ภาค ร่วมทำงานขับเคลื่อนตามนโยบายอีกด้วย

          ส่วนกรอบระยะเวลาในการขับเคลื่อนงานนั้น ศธ.ได้จัดทีมโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ไปดำเนินการตามกรอบงานที่รัฐบาลกำหนด ดังนี้

 

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21ก.พ.-20 มี.ค.2561เป็นการ Kick Off พร้อมกันตำบลละ 1 หมู่บ้าน เพื่อสอบถามชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ เยี่ยมเยียนรายครัวเรือน/รายบุคคลรวมทั้งค้นหาความต้องการของประชาชน หมู่บ้าน ชุมชน เพื่อนำไปจัดทำโครงการเสนอตามกรอบการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่

 

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มี.ค.-10 เม.ย.2561เป็นการติดตาม ขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหา รวมทั้งสร้างการรับรู้และการปฏิบัติตามสัญญาประชาคม การให้ประชาชนรู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย รู้รักประชาธิปไตย และรู้กลไกการบริหาร

 

ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 11 เม.ย.-15 พ.ค.2561  เป็นการติดตาม ขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหา สร้างการรับรู้ปรับความความคิด (Mindset)เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาวิถีไทยวิถีพอเพียง

 

ครั้งที่ 4 ช่วงวันที่ 16 พ.ค.-30 มิ.ย.2561  เป็นการติดตาม ขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหา สร้างการรับรู้ปรับความความคิด (Mindset) เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนา รู้เท่าทันเทคโนโลยี และร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด

 

          สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง  ศธ.ได้ใช้กลไกในพื้นที่เป็นตัวขับเคลื่อน โดยเฉพาะ "กศน.ตำบล" ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพราะถือว่าเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศมากที่สุดเนื่องจาก กศน.ตำบลทุกแห่งมีบทบาทและภารกิจ 4 ศูนย์เรียนรู้คือ ศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบลศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยประจำตำบล ศูนย์ดิจิทัลชุมชนและศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตชุมชน

 

          อย่างไรก็ตาม ศธ.เห็นว่าควรมีการประชุมทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อทบทวนการทำงานในห้วงเวลาที่ผ่านมารวมทั้งให้ทีมขับเคลื่อนฯ ทุกระดับได้รับทราบความรู้ความเข้าใจในการทำงานเรื่องต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อออกไปสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจกับประชาชนให้เกิดสัมฤทธิผล จึงได้กำหนดให้มีการจัดประชุมทีมขับเคลื่อนระดับตำบล อำเภอ จังหวัดรวม 4 ครั้ง ครอบคลุม 6 ภาคทั่วประเทศ คือ ครั้งแรก(ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน)จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20-21 เม.ย.2561 ที่ จ.สงขลา, ครั้งที่ 2 (ภาคกลางและภาคตะวันออก)เมื่อวันที่ 27-28 เม.ย.2561 ที่ จ.นนทบุรี, ครั้งที่ 3 (ภาคเหนือ)เมื่อวันที่ 28-29 เม.ย.2561 ที่ จ.เชียงใหม่และครั้งที่ 4 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)เมื่อวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.2561 ที่ จ.ขอนแก่น

 

           ทั้งนี้ เรื่องสำคัญที่ ศธ.ได้เน้นย้ำในการประชุมทีมขับเคลื่อนฯ คือ ขอให้ทีมขับเคลื่อนฯ ทุกคนได้ศึกษาและน้อมนำศาสตร์พระราชาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตลอดจนหลักการทรงงาน23 ประการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 ที่ได้ทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูรรัชกาลที่10 ทรงมีพระราชปณิธานสืบสานตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสู่การปฏิบัติในงานของตนเอง เพื่อสืบสานรักษาและต่อยอดงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

          นอกจากนี้ ขอให้นำ"ชุดความรู้"ที่จัดทำขึ้นในรูปแบบ DVD เพื่อให้ทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบลนำไปเผยแพร่ในพื้นที่และย้ำถึงการให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการ โดยสำนักงาน กศน. จะเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการสำรวจข้อมูลกลุ่มคนที่ควรได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษในขณะเดียวกันครู กศน.ตำบลจะได้รับการถ่ายทอดวิธีการที่จะลงพื้นที่ไปช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นเช่น การผลิตหรือแนะนำสินค้าผลิตภัณฑ์ ฯลฯ

          “นับตั้งแต่วันที่รัฐบาลได้เริ่มต้นขับเคลื่อนการบริหารงานในรูปแบบ "ไทยนิยมยั่งยืน" และขยายเวลาโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2561 จึงเป็นโอกาสดีที่ ศธ.จะเปิดเวทีประชุมเสวนาสร้างการรับรู้รับข้อมูลชุดความรู้ จัดกิจกรรมในชุมชนต่าง ๆ มากขึ้นเพื่อช่วยให้การถ่ายทอดข้อมูลความรู้ไปสู่ประชาชนให้ได้เข้าถึงบริการด้านการศึกษาอันจะส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

          ทั้งนี้ ศธ.ได้ยึดนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่เน้น  "ประชาชนเป็นศูนย์กลาง"ดังนั้นแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ "ไทยนิยมยั่งยืน" จึงมุ่งไปสู่เป้าหมายสุดท้าย คือ "ทำงานเพื่อความสุขของประชาชนเป็นสำคัญ" เพื่อให้ประเทศเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สืบไป”

 

----------------------------

 

โดย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ที่มาของข่าว http://www.bangkokbiznews.com/recommended/detail/846
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181