ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รายงานพิเศษ ไทม์ไลน์เลือกตั้ง หลังร่างกฎหมาย ส.ส. และ ส.ว. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

วันที่ลงข่าว: 05/06/18

          หลังผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้เริ่มเห็นทิศทางการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น

          หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ มาตรา 35 การตัดสิทธิ์ทางการเมืองผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และมาตรา 92 การช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้พิการในการลงคะแนนเลือกตั้ง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ รวมถึงร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว. ) ที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีมติเห็นว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญเช่นกัน ส่งผลให้ทุกอย่างเริ่มเห็นความชัดเจนของกรอบเวลา หรือไทม์ไลน์ ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแมป ซึ่งตามกรอบเวลาและขั้นตอนต่อจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะส่งคำวินิจฉัยกลางและร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับคืนมายังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อส่งต่อให้นายกรัฐมนตรี  เตรียมนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ หากเป็นช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ คาดว่าร่างกฎหมายจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ประมาณเดือนกันยายน แต่ต้องรออีก 90 วันตามเงื่อนไขในร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายจึงมีผลบังคับใช้ และตามรัฐธรรมนูญมาตรา  268 กำหนดให้จัดการเลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จภายใน  150 วัน นับตั้งแต่วันที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับมีผลใช้บังคับ คาดการณ์ว่าการจัดการเลือกตั้งน่าจะอยู่ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2562  ทำให้ขณะนี้หน่วยงานเกี่ยวข้องต่างเตรียมพร้อม โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบเรื่องการเลือกตั้ง นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวว่า กกต. มีความพร้อมจัดการเลือกตั้ง แต่คงต้องรอดูร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะประกาศและใช้บังคับเมื่อใด ถึงเวลานั้น กกต.ต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

          แต่อาจจะไม่ใช้เต็มกรอบเวลาก็ได้ เพราะที่ผ่านมาก็เคยใช้เวลาจัดการเลือกตั้งใน 60 วัน และ 90 วันมาแล้ว เชื่อว่าไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม จากนี้คงต้องติดตามกันต่อว่า เมื่อร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว จะเกิดปัญหาและอุปสรรคใดที่จะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีกหรือไม่ โดยเฉพาะประชาชนและฝ่ายการเมือง เป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งและทำให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก