ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

'ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง' เสริมพลัง'ประชากรกลุ่มเฉพาะ'

วันที่ลงข่าว: 31/05/18

          "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" (No One Left Behind) เป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงมากในระยะหลังๆ ในฐานะตัว ชี้วัดของความเป็น "สังคมอารยะ"ดังตัวอย่างหนึ่งคือบรรดาประเทศที่เจริญ แล้วจะพยายามอำนวยความสะดวกให้ "ประชากรกลุ่มเฉพาะ" อย่างคนพิการ หรือผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตอย่างคนหนุ่มสาวร่างกายปกติ เช่น ส่งเสริมให้การก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ต้องออกแบบให้ประชากรกลุ่มนี้ใช้งาน ได้ด้วย เป็นต้น

          รณรงค์ จันใด อาจารย์ภาค วิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคม สงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และผู้ดำเนินโครงการสร้างเสริมศักยภาพกลไกเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะประชากร กลุ่มเฉพาะ (สกค.) ซึ่งได้รับการ สนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีกลุ่มประชากรที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ อันเกิดจากปัจจัยกีดกันทางสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ และสภาพแวดล้อม ที่ส่งผลต่อการเข้าถึงชุดสิทธิประโยชน์และสวัสดิการทางสังคม ซึ่งเอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี อาทิ คนพิการ ผู้สูงอายุ แรงงาน คนจนเมือง คนไร้บ้าน

           ซึ่งประชากรเหล่านี้ ถือเป็นประชากรกลุ่มเฉพาะที่ต้องอาศัยกลไกที่ดีและพลังเครือข่ายในการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะ จึงเป็นที่มาของโครงการ สกค. ทำงานสร้างกิจกรรมที่จะเสริมสร้างสุขภาวะของประชากรกลุ่มนี้ โดยการพัฒนากลไกระดับพื้นที่ และกลไกระดับจังหวัดขึ้นมา การดำเนินการระยะแรกเป็นการนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ เลย สุพรรณบุรี และพะเยา เพราะทั้ง 3 จังหวัดมีการรวมตัวกันอย่าง เข้มแข็งขององค์กรภาคประชาชนในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมเป็นทุนเดิมที่ดีอยู่แล้ว

          "โครงการเข้าไปมีส่วนในการเสริมสร้างพลังวิชาการ เปิดโอกาสให้กลุ่มนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่เข้าไปร่วมอยู่ในกลไกการขับเคลื่อนโครงการร่วมกันในระดับจังหวัด เช่น จังหวัดเลยก็มีกลุ่ม คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จังหวัดพะเยาก็มีกลุ่มคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยพะเยา และจังหวัดสุพรรณบุรี ก็มีกลุ่มคณาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมและขับเคลื่อนงานในพื้นที่ของตนเอง" อาจารย์รณรงค์ อธิบาย

           นักวิชาการด้านพัฒนาชุมชนจาก มธ. ผู้นี้ เล่าต่อไปว่า การดำเนินการ เริ่มจากแต่ละจังหวัดจะคัดเลือกพื้นที่ปฏิบัติการจังหวัดละ 20 ตำบล หรือหมู่บ้านเป็นพื้นที่ต้นแบบ ให้ทำกิจกรรมที่เป็นเรื่องการพัฒนาศักยภาพหรือสร้างการมีส่วนร่วมของประชากรกลุ่มเฉพาะ โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถขยายพื้นที่ออกไปให้ครอบคลุมทุกตำบล ทั้งจังหวัดต่อไป โดยสาเหตุที่ต้องผลักดันโครงการนี้อย่างจริงจัง เพราะ "ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย"จึงต้องการให้ประชากรกลุ่มเฉพาะมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้

          "เรื่องยากสำหรับการทำงานด้านสังคม คือจะไม่เห็นผลทันทีและไม่มีผลเชิงประจักษ์มากนัก แต่อย่างน้อยๆ เราต้องมีจุดเริ่มต้น เพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกคนได้เห็นคุณค่าร่วมกันว่าเราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เราเห็นว่าเราจะก้าวไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร ภายใต้ปัจจัยและข้อกำหนดที่แตกต่างกันระหว่างบุคคล ซึ่งการทำงานของโครงการเราเป็นลักษณะร่วมลงมือทำ ถอดบทเรียน รู้ปัญหาและปัจจัยที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จร่วมกันเพื่อขยายผลไปพื้นที่อื่นๆ ต่อไป"อาจารย์รณรงค์ กล่าว

 

ขณะที่ อนุสรณ์ อำพันธ์ศรี นักบริหารแผนชำนาญการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. กล่าวว่า สสส. อยากให้ประชากรกลุ่มเฉพาะเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดค้นกระบวนการการเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมด้วยตนเอง จึงสนับสนุนให้เกิดการสร้างกลไกหนุนเสริมและพัฒนาศักยภาพในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ประชากรกลุ่มนี้ สามารถลุกขึ้นมา จัดการเรื่องสุขภาวะของเขาด้วย ตนเองได้ ระยะแรกเน้นพัฒนากลไก ในพื้นที่ให้เข้มแข็งก่อน ส่วนในอนาคตคาดหวังให้ประชากรกลุ่มเฉพาะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานมากขึ้น

 

จากภาควิชาการและนโยบาย สู่การลงมือขับเคลื่อนในท้องถิ่น ยุทธนา วงศ์โสภา ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดเลย เปิดเผยว่า การทำงานของ สกค.เลย เน้นส่งเสริมให้เครือข่ายคนทำงานด้านสังคมที่มีอยู่แล้ว ทำงานได้อย่างเข้มแข็งเพื่อสร้างกิจกรรมและกลไกการขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสิ่งสำคัญคือการประสานกับกลไกระดับพื้นที่ นั่นคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ให้เข้ามามีส่วนร่วม ส่งผลให้กิจกรรมมีความต่อเนื่องและดึงศักยภาพของ เครือข่ายต่างๆ ออกมาทำงานร่วมกัน

 

"ที่ อ.เชียงคาน มีการสำรวจพบปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ หรือกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว คนกลุ่มนี้เคยถูกสังคมปฏิเสธ โครงการก็ไปชักชวนให้เข้ามาเป็นจิตอาสา ปั่นจักรยานไปเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงตามบ้าน ชุมชนก็เปิดรับและได้ดูแลคนกลุ่มนี้ เขาเองก็รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า หรือการทำโรงเรียนผู้สูงอายุของ ต.น้ำสวย อ.เมือง ที่มี อปท. เข้ามาหนุนเสริม ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และดึงความร่วมมือจากคนทุกวัยเข้ามาร่วมกิจกรรม ซึ่งกลไกเหล่านี้จะช่วยให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมและเกิดการพัฒนาไปพร้อมกัน"ยุทธนา ยกตัวอย่าง

 

ส่วนที่ จ.สุพรรณบุรี รัตนา สมบูรณ์วิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาประชาสังคมภูมิภาค จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ที่นี่แทบทุกพื้นที่ต่างมีกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาวะ แต่ยังขาดการจัดสภาพแวดล้อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนพิการและ ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มประชากรที่ไม่มีศักยภาพในการช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งการจัดการเรื่องดังกล่าวไม่ได้ทำเพื่อประชากรกลุ่มเฉพาะอย่างเดียว แต่เพื่อทุกคนในครัวเรือน

 

"สุพรรณบุรีใช้ชมรมผู้สูงอายุในการขับเคลื่อน ร้อยละ 90 ของผู้สูงอายุเป็นผู้ติดสังคม อายุมากแต่ยังมีพลังทำงานให้สังคมได้ เรานำประสบการณ์ชีวิตของคนสูงวัย มาใช้ และดึงคนวัยอื่นๆ เข้ามาร่วมงาน เราให้ความสำคัญว่าคนคือกลไกและหัวใจของการพัฒนา" รัตนา กล่าว

 

ด้าน ยงยุทธ ไชยา ประธาน สกค.จังหวัดพะเยา กล่าวว่า การทำงานของจังหวัดพะเยามุ่ง 4 มิติ ได้แก่ สุขภาพ สภาพแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ พยายามดึงคนสองวัยเข้ามามีกิจกรรมด้วยกัน เพราะพะเยามี ปัญหาขาดช่วงคนหนุ่มสาวและวัยกลางคน กล่าวคือ ในชุมชนเหลือคนชราและเด็ก โดยประสานกับเครือข่ายและกลุ่มทุนในพื้นที่ เช่น กองทุนผู้สูงอายุ กองทุนคนพิการจังหวัดพะเยา เพื่อนำความรู้ ในเรื่องประชากรกลุ่มเฉพาะกระจายเข้าไปในกลุ่มเครือข่ายและขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน

 

"เราไม่เคยทำงานกับนักวิชาการ มาก่อน เป็นชาวบ้านในพื้นที่ เป็นฝ่ายปฏิบัติ แต่นักวิชาการเป็นฝ่ายวางแผน ขณะเดียวกันนักวิชาการก็มีความรู้เรื่องการถอดบทเรียนและ ส่งต่อ การที่ สกค. นำองค์ความรู้จาก นักวิชาการเข้ามาเสริม ทำให้การทำงาน เรามีประสิทธิภาพ เข้มแข็งและ คล่องตัวขึ้น"ประธาน สกค. พะเยา กล่าวในท้ายที่สุด

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 30 พฤษภาคม 2561
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก