ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงพื้นที่พบประชาชน และติดตามความคืบหน้าโครงการวิถี "ไทยนิยม ยั่งยืน" จังหวัดสุรินทร์

วันที่ลงข่าว: 28/05/18

          วันที่ 27 พ.ค. 61 ที่โรงแรมทองธารินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เขต 13 พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตามโครงการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพบประชาชน ตามวิถี "ไทยนิยม ยั่งยืน" จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเผยแพร่บทบาทและหน้าที่ของสภาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และพบปะประชาชน รับฟังความคิดเห็นและปัญหาอุปสรรค ตลอดจนติดตามการดำเนินงานของจังหวัดตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้งพบปะประชาชนตัวแทนกลุ่มพิเศษจาก 17 อำเภอ ประกอบด้วย เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส สภาเด็ก นิสิตนักศึกษา จำนวน 300 คน โดยมีนายพรพจน์ บัณฑิตยานุรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ รายงานผลการดำเนินโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน" จังหวัดสุรินทร์

          นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่เสมือนสะพานเชื่อมต่อกับทุกจังหวัด กระทรวง ทบวงกรม และเชื่อมต่อการดำเนินการกับรัฐบาล สำหรับโครงการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพบประชาชน มีการดำเนินการทั่วประเทศ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนกว่า 12,000 เรื่อง ดำเนินกว่าแล้วเสร็จกว่า 9,000 เรื่อง ยกเว้นบางเรื่องที่เป็นนโยบายหลัก ที่ต้องรอแนวทางและงบประมาณจากรัฐบาล เช่น การก่อสร้างสนามบิน การเปิดด่านชายแดน การก่อสร้างถนนขนาดใหญ่ ปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่ติดป่าสงวน

          สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อพบปะให้กำลังใจประชาชนและส่วนราชการ เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการขับเคลื่อนโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน" โดยจะมีการติดตามความสำเร็จของโครงการต่อไป นอกจากนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มอบหมายภารกิจให้จังหวัดสุรินทร์ เป็นเจ้าภาพจัดงานคนพิการตาบอดแห่งประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

          ทั้งนี้ จังหวัดสุรินทร์ ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน" โดยจัดทีมลงพื้นที่จัดเวทีประชาคมหมู่บ้าน ครบทุกหมู่บ้าน ชุมชน จำนวน 2,154 แห่ง ข้อมูลความต้องการ กว่า 19,900 เรื่อง ต้องการได้รับการแก้ไขมากที่สุด คือ ประเภทถนน ไฟฟ้า น้ำใช้ การเพาะปลูก และประเภทน้ำเพื่อการเกษตร

          จากนั้น ในช่วงบ่าย คณะอนุกรรมการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เดินทางลงพื้นที่ไปยังบ้านเชียงสง ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ เยี่ยมเยียนและพบปะประชาชนเพื่อติดตามผลการดำเนินงานพื้นที่อำเภอจอมพระ โดยเป็นระยะเวทีที่ 4 ซึ่งเป็นเวทีสุดท้ายของการดำเนินการเพื่อสร้างการรับรู้ ปรับความคิด เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน ซึ่งในวันนี้เป็นการจัดเวทีครั้งที่ 4 ของหมู่บ้านเชียงสง ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ โดยมีประชาชนเข้าร่วมประชุม จำนวน 200 คน

          ทั้งนี้ จากการจัดทำเวทีครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 3 พบปัญหาและความต้องการทั้งสิ้น จำนวน 2,629 ปัญหา ได้แก่ ปัญหาความต้องการที่สามารถดำเนินการแก้ไขในระดับพื้นที่ได้ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ 48 ปัญหา ปัญหาความต้องการที่สามารถดำเนินการแก้ไขในระดับพื้นที่ได้ โดยใช้งบประมาณของหน่วยงานในระดับพื้นที่ดำเนินการ 1,653 ปัญหา ปัญหาความต้องการที่ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขในระดับพื้นที่ได้ ต้องขอสนับสนุนงบประมาณ จากจังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาคหรือส่วนกลางดำเนินการ จำนวน 948 ปัญหา

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก