ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ปลัด ศธ. สร้างขวัญกำลังใจครูดอย มอบวุฒิบัตรโครงการพัฒนาทักษะการฟังและพูดภาษาไทยเพื่อการสื่อสารสำหรับผู้ใหญ่บนพื้นที่สูง

วันที่ลงข่าว: 16/05/18

          นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน. เปิดเผยหลังจาก  นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปเป็นประธานพิธีมอบเกียรติบัตรโครงการ “โครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการฟังและพูดภาษาไทยเพื่อการสื่อสารสำหรับผู้ใหญ่บนพื้นที่สูง” ให้แก่ครู ศศช. (ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง) ณ โรงเรียนอมก๋อย วิทยาคม อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยมี ดร.ทองอยู่ แก้วไทรฮะ ที่ปรึกษาสำนักงาน กศน. นายเรวัติ สุธรรม ที่ปรึกษาโครงการฯ พร้อมด้วยนายศุภกร ศรีศักดา ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดเชียงใหม่ และ คณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการทุกภาคส่วนในพื้นที่เข้าร่วม ว่า โครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการฟังและพูดภาษาไทยเพื่อการสื่อสารสำหรับผู้ใหญ่บนพื้นที่สูง เกิดขึ้นจากการที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมร่วมมือ และสนับสนุนให้ประชาชนบนพื้นที่สูงที่ยังไม่สามารถใช้ภาษาไทยในการสื่อสารให้สามารถสื่อสารภาษาไทยที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันได้ สำนักงาน กศน. ได้มอบหมายให้สำนักงานกศน.จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันกศน.ภาคเหนือและผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมกันหาวิธีการจนได้แนวทางการดำเนินงาน และเกิดการอบรมในครั้งนี้ขึ้น ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวม 4 รุ่น ใช้ระยเวลาอบรมรุ่นละ 6 วัน เนื้อหาสาระในการอบรมในวันแรก จะเป็นการชี้แจงทำความเข้าใจ และข้อตกลงร่วมกันระหว่างวิทยากรกับผู้รับการอบรม โดยจะแบ่งวิทยากรออกเป็น 3 ฐาน เพื่อรองรับครู ศศช. ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งทั้ง 3 ฐาน จะใช้หลักสูตร และวิธีการฝึกเหมือนกัน โดยแต่ละฐานจะมีอาจารย์ใหญ่คุมฐานละ 1 คน ส่วนในวันที่ 2 ของการอบรม จะเป็นการปู้พื้นฐานความเป็นมาและความสำคัญที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี รับสั่งให้ความรู้เรื่องจิตวิทยา หลักการเรียนการสอนของผู้ใหญ่ โดยจะมีการบรรยายให้ความรู้ การให้กรณีศึกษา การแบ่งกลุ่มอภิปราย และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ใช้วิธีการเรียนรู้โดยการให้ระเบิดจากข้างใน กล่าวคือ ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้คิดหาวิธีด้วยตัวเองก่อน วันที่ 3 – 5 เป็นการพัฒนาทักษะของครูที่จะช่วยกลุ่มเป้าหมาย ต้องให้ครูได้เรียนรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งอายที่จะพูด อายที่จะเจอกับคนแปลกหน้า ครูต้องใช้จิตวิทยาผู้ใหญ่ เช่น อาจใช้คนในบ้านที่พูดภาษาไทยได้ หรือให้ศิษย์เก่าที่ว่างงานและมีจิตอาสา เป็นผู้ช่วยในการสอน เป็นต้น และวันสุดท้ายเป็นการสรุปผลเพื่อประมวลความรู้ ประสบการณ์ เพื่อนำมาข้อมูลที่ได้มาหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งถือเป็นกระบวนการอบรมแบบมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน

          นายกฤตชัย กล่าวต่อไปว่า โอกาสนี้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้กำลังใจและชื่นชม ครู กศน.ที่เป็นแกนหลักในการจัดการศึกษาในเขตพื้นที่สูงที่ห่างไกล และยังฝากให้ครู สพฐ. และครู ตชด.ช่วยระดมพลังช่วยสานต่อโครงการฯ ช่วยให้กลุ่มที่สื่อสารไม่ได้ สามารถสื่อสารได้ เพื่อจะยกระดับคุณภาพชีวิต ตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากนั้น ยังได้ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางการขยายผลโครงการฯ ไปสู่จังหวัดอื่นๆ ในเขตภาคเหนือด้วย โดยกระทรวงศึกษาธิการ จะเชิญศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ผอ.กศน.จังหวัด ในเขตภาคเหนือ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมชี้แจงอีกครั้งในช่วงปลายเดือนนี้

ที่มาของข่าว http://www.nfe.go.th/onie/index.php/news/
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก