ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ก.แรงงาน พัฒนาช่างคนพิการ สร้างโอกาสทางสังคม

วันที่ลงข่าว: 02/05/18

          นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่ากพร. กระทรวงแรงงาน มีภารกิจในการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการ 3 ด้าน ได้แก่ ภารกิจที่หนึ่ง การฝึกอบรมฝีมือแรงงานคนพิการร่วมกับผู้รับการฝึกทั่วไปตามหลักสูตรของกพร. ภารกิจที่สอง การศึกษารูปแบบที่เหมาะที่เหมาะสมในการพัฒนาฝีมือแรงงานคนพิการ โดยใช้แนวทางประชารัฐร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายด้านคนพิการทั้งภาครัฐ เอกชน และ NGO ภารกิจสุดท้าย การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติและนานาชาติ เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่มุ่งกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในการพัฒนาศักยภาพและเพื่อสร้างโอกาสการมีงานทำ สามารถพึ่งพาตนเองได้ของคนพิการ ซึ่งทั้งสามภารกิจจะเป็นไปตามนโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) ของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีงานทำของกลุ่มคนในทุกเพศ ทุกวัย และส่งเสริมการรับคนพิการเข้าทำงาน จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ ดำเนินการฝึกอบรมในสาขาก่อสร้าง สาขาช่างเครื่องกล สาขาช่างอุตสาหกรรมศิลป์ สาขาช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ สาขาอุตสาหกรรมการเกษตร และสาขาธุรกิจและบริการ เปิดโอกาสให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรม เพื่อเป็นการวัดทักษะฝีมือ พิสูจน์ศักยภาพ เพิ่มโอกาสในการมีงานทำ ได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จะสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่มีการประกาศเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

          นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสนพ.พะเยา กล่าวว่าเมื่อเร็วๆ นี้สนพ.พะเยา ร่วมกับสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดพะเยา เปิดฝึกอบรมสาขาช่างก่ออิฐ-ฉาบปูน (ระยะเวลาการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง) ให้กับช่างคนพิการในพื้นที่อำเภอดอกคำใต้จ.พะเยา จำนวน 20 คน การฝึกอบรมมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และสร้างสาธารณประโยชน์ให้แก่ชุมชุน ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ช่างคนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับการทดสอบฯ สาขาช่างก่ออิฐ ระดับ 1 จะได้รับอัตราค่าจ้าง วันละ 345 บาท ส่วนสาขาช่างฉาบปูน ระดับ 1 จะได้รับค่าจ้างอยู่ที่วันละ 385 บาท เช่นเดียวกับช่างทั่วไป ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำของจ.พะเยา จะอยู่เพียงวันละ 315 บาท นายจ้างหรือสถานประกอบกิจการ ที่จ้างช่างคนพิการในการก่ออิฐฉาบปูน สามารถมั่นใจได้ว่า ผลงานของช่างคนพิการมีคุณภาพมีมาตรฐานเชื่อถือได้ เนื่องจาก ช่างคนพิการ ต้องผ่านเกณฑ์การทดสอบฯ ทั้ง 6 มาตรฐาน อันประกอบด้วย ความปลอดภัยในการทำงาน การใช้วัสดุอย่างประหยัด การใช้เครื่องมือถูกต้อง ดำเนินงานเสร็จทันภายในเวลาที่กำหนด ขั้นตอนการทำงานครบถ้วนถูกต้อง ผลงานมีคุณภาพตามมาตรฐานที่ผู้จ้างกำหนด

          "สนพ.พะเยา จะดำเนินการฝึกยกระดับฝีมือคนพิการในสาขาอื่นๆ พร้อมกับเปิดทดสอบฯ ในสาขานั้นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนพิการในจ.พะเยา เพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ให้ได้รับค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ จ.พะเยา มีคนพิการจำนวนกว่า 24,000 คน โดยสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดพะเยา จะเป็นผู้ดำเนินการประสานช่างคนพิการเข้าร่วมฝึกอบรมและทดสอบฯ อาชีพ อันเป็นการพลิกชีวิตของคนพิการ ให้กลับกลายเป็นผู้ที่สามารถขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจได้ไม่แตกต่างจากคนปกติ สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ กลายเป็นแรงงานหลักในการทำงาน ส่งผลให้ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในจังหวัด" ผู้อำนวยการสนพ.พะเยา กล่าว

 

ที่มาของข่าว http://www.ryt9.com/s/prg/2819157
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก