ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สถ.ซักซ้อมท้องถิ่นให้ใช้เงินสะสมสำรองจ่ายช่วยผู้พิการ เด็ก คนชรา ตามสิทธ์ได้

วันที่ลงข่าว: 27/04/18

          วันที่ 26 เมษายน 2561 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า เนื่องจากมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินสะสมทดรองจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินเบี้ยความพิการ ค่าอาหารกลางวันและค่าอาหารเสริมนมของสถานศึกษา และเงินอุดหนุนให้หน่วยงานอื่น และยังไม่ดำเนินการเบิกจ่ายเงินทำให้ผู้มีสิทธิได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นเพื่อให้การใช้จ่ายเงินสะสมทดรองจ่ายไปพลางก่อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินเบี้ยความพิการ เงินค่าอาหารกลางวัน เงินค่าอาหารเสริมนม และเงินอุดหนุนให้หน่วยงานอื่น เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ กรมฯ จึงแจ้งแนวทางการใช้จ่ายเงินสะสมทดรองจ่ายไปพลางก่อนกรณีดังกล่าวให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติ 

         โดยในกรณีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการนั้น ให้ดำเนินดังนี้ 1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินเบี้ยความพิการ แต่ผู้มีสิทธิได้ยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินเบี้ยความพิการรายใหม่เพิ่มขึ้น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยความพิการให้คนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทำให้มีรายจ่ายจริงมากกว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถโอนงบประมาณรายจ่ายตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไปจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินเบี้ยความพิการในส่วนที่เพิ่มขึ้นได้ 

         2. กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณไม่เพียงพอต่อการบริหาร อาจขอทำความตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน  การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 4 และข้อ 88 ประกอบคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 181/2548 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2548 เรื่อง การมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน เพื่อนำเงินสะสมทดรองจ่ายไปพลางก่อน 3.  ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินเบี้ยความพิการในเขตพื้นที่กับข้อมูลในระบบสารสนเทศการจัดการฐานข้อมูลเงินเบี้ยยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ตรงกัน หากได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอให้รายงานจังหวัดเพื่อแจ้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเสนอของบประมาณเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรต่อไป และ 4. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินเบี้ยความพิการ โดยถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยความพิการให้คนพิการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

       สำหรับกรณีค่าอาหารกลางวันและค่าอาหารเสริมนม ก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการดังนี้ 1. ตรวจสอบจำนวนเด็กของสถานศึกษากับข้อมูลในระบบสารสนเทศขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ตรงกัน หากได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ ให้รายงานจังหวัดเพื่อแจ้งกลับมาที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อเสนอของบประมาณเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรต่อไป 2. กรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินค่าอาหารกลางวันและค่าอาหารเสริมนมของสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว แต่มีจำนวนเด็กรายใหม่เพิ่มขึ้น ทำให้มีรายจ่ายจริงมากกว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถโอนงบประมาณรายจ่ายตามระเบียบระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไปจ่ายเป็นค่าอาหารกลางวันและค่าอาหารเสริมนมในส่วนที่เพิ่มขึ้นได้ 

       3. กรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะนำมาจ่ายเป็นค่าอาหารกลางวันและอาหารเสริมนมของสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจขอทำความตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 4 และข้อ 88 ประกอบคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 181/2548 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2548 เรื่อง การมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน เพื่อนำเงินสะสมทดรองจ่ายไปพลางก่อน 

       และ 4. กรณีสถานศึกษาสังกัดหน่วยงานอื่น ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินค่าอาหารกลางวันไม่เพียงพอเนื่องจากมีจำนวนเด็กรายใหม่เพิ่มขึ้น ทำให้มีรายจ่ายจริงมากกว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ให้สถานศึกษาจัดทำโครงการขอรับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถโอนงบประมาณรายจ่ายตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือหากไม่มีงบประมาณ ก็อาจขอทำความตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการนำเงินสะสมทดรองจ่ายเพื่อสนับสนุนอาหารกลางวันให้แก่สถานศึกษาในส่วนที่เพิ่มขึ้นได้เช่นเดียวกัน

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 26 เมษายน 2561
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก