ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

"แขน-ขา-มือ-นิ้ว" ซิลิโคน นวัตกรรมกายอุปกรณ์...เพื่อผู้พิการ

วันที่ลงข่าว: 23/04/18
           ปี 2560 จำนวนคนพิการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย มีทั้งสิ้น 1,808,524 คน คิดเป็น 2.75% ของประชากรทั้งประเทศ โดยแยกเป็นเพศชาย 953,541 คน และเพศหญิง 854,984 คน
มากที่สุดเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 880,662 คน หรือประมาณ 48.69% ของจำนวนประชากรที่เป็นผู้พิการทั้งหมดในประเทศ โดยในจำนวนนี้มีอายุระหว่าง 22-59 ปี 47.18% และมากกว่า 60 ปีขึ้นไป 52.97%
สิ่งหนึ่งที่ถือว่ามีความจำเป็นต่อผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย โดยเฉพาะกรณีของการสูญเสียอวัยวะไม่ว่าจะเป็น แขน ขา มือ นิ้ว ฯลฯ สิ่งสำคัญที่สุดคือการได้รับกายอุปกรณ์เทียม ซึ่งโดยทั่วไปมีหลายหน่วยงานที่สามารถวิจัยและพัฒนารวมไปถึงผลิตกายอุปกรณ์ส่วนต่างๆเพื่อรองรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายได้ หนึ่งในนั้นคือ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ในสังกัดกรมการแพทย์
          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวความคิดเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านคนพิการทั้งในประเทศและนานาชาติ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเทคโนโลยีการออกแบบและผลิตกายอุปกรณ์พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ เล็งเห็นถึงปัญหาและความทุกข์ทรมานใจของผู้พิการที่ต้องสูญเสียอวัยวะ จึงได้ตั้งเป้าหมายในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยการผลิตกายอุปกรณ์เทียมให้มีความเสมือนจริงเพิ่มมากขึ้น
เรารู้ว่าผู้พิการที่ต้องสูญเสียอวัยวะบางครั้งการได้รับกายอุปกรณ์เทียม นอกจากจะช่วยในเรื่องของการดำรงชีวิตแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือด้านจิตใจ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ จึงได้มีการนำเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆมาออกแบบและผลิตกายอุปกรณ์สำหรับผู้พิการกลุ่มนี้ให้มีความเหมือนจริง เน้นความต้องการของผู้พิการเฉพาะรายโดยใช้วัสดุที่เหมือนจริงมากๆคือซิลิโคน อธิบดีกรมการแพทย์บอก
          โดยในการผลิต คุณหมอสมศักดิ์ บอกว่า เน้นการขึ้นแบบเฉพาะรายไม่ว่าจะเป็น นิ้วมือ นิ้วเท้าเทียม มือเทียม หรือ เท้าเสริมส่วนหน้า ซึ่งสามารถทดแทนอวัยวะส่วนที่ขาดหายชดเชยหน้าที่การทำงาน คืนรูปร่างลักษณะที่สวยงาม ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อจิตใจและศักยภาพในการกลับคืนสู่สังคมของผู้ป่วยและคนพิการที่สูญเสีย นิ้วมือ, มือ, นิ้วเท้า, เท้า หรือมีความพิการแต่กำเนิด
          หลังจากที่มีการพัฒนารูปแบบของอวัยวะเทียมให้มีความเหมือนจริงมากขึ้น พบว่าผู้มารับบริการส่วนใหญ่ ซึ่งก็คือ ผู้ที่สูญเสียนิ้ว หรือมือขาดบางส่วน มือขาด เท้าขาด จากสาเหตุความพิการตั้งแต่กำเนิดหรือผู้ที่สูญเสียอวัยวะจากอุบัติเหตุประเภทต่างๆ และกลุ่มผู้ที่ต้องถูกตัดอวัยวะจากโรคเบาหวานหรือโรคอื่นๆมีความพึงพอใจ สำคัญที่สุดคือ มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น คุณหมอสมศักดิ์บอก
         ด้าน นพ.ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผอ.สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟู สมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การให้บริการด้านกายอุปกรณ์เทียมชนิดซิลิโคน (Silicone Lab) เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 โดยทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูฯ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ นักกายอุปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งจะมีการตรวจประเมินและออกแบบกายอุปกรณ์ให้มีความกระชับพอดีกับผู้ใช้ โดยใช้ระบบสุญญากาศซึ่งมีผลดีคือ ไม่ทำให้เจ็บหรือปวดในขณะใช้งาน มีความเหมาะสมสำหรับผู้พิการแต่ละราย
ขั้นตอนในการผลิตกายอุปกรณ์เทียมเหล่านี้ จะใช้วัสดุซิลิโคนที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ ที่ผ่านทั้งการผลิต ตรวจสอบ และประเมินก่อนนำไปใช้งานจริง นอกจากนี้ ยังได้แนะนำข้อมูลและติดตามผลการใช้งานอย่างต่อเนื่องด้วย คุณหมอศักรินทร์บอก
ผอ.สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ บอกอีกว่า ความโดดเด่นของกายอุปกรณ์เทียมชนิดซิลิโคน คือ
         1.ออกแบบและผลิตขึ้นเฉพาะสำหรับผู้ป่วยในแต่ละราย 2.มีรูปร่างและลักษณะที่ใกล้เคียงกับอวัยวะที่เหลืออยู่ สีของกายอุปกรณ์เทียมคล้ายกับสีผิวของผู้ป่วย 3.มีความกระชับพอดี 4.เล็บอะคริลิกเสมือนจริง ถูกผลิตขึ้นทีละเล็บเพื่อให้คล้ายกับเล็บของผู้ป่วย สามารถตัดแต่งให้สวยงามตามความต้องการได้ และ 5.เมื่อเปื้อนคราบหมึกจากปากกาหรือสื่อสิ่งพิมพ์ สามารถเช็ดทำความสะอาดเพื่อให้คราบจางลงได้
           เราพบว่าผู้พิการ ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจ หลังจากที่ได้รับกายอุปกรณ์ที่มีทั้งความ เหมาะสมกับตนเอง มีความสวยงาม และทำให้มั่นใจขณะที่ใช้กายอุปกรณ์เหล่านี้ทดแทนอวัยวะที่สูญเสียไปส่วนหนึ่งที่ได้เห็นคือรอยยิ้ม และความสุขที่ทำให้ผู้พิการไม่รู้สึกว่าตนเอง  แตกต่างจากคนอื่น ทำให้สามารถใช้ศักยภาพที่มีทำงานหรือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้ เหมือนคนปกติที่ไม่ได้มีความพิการใดๆ คุณหมอศักรินทร์บอกด้วยความภาคภูมิใจ
           สำคัญคือ แม้พวกเขาจะเป็นผู้พิการ แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ได้ต่างไปจากคนปกติทั่วไป เขาจึงมีสิทธิและโอกาสที่จะได้มีกายอุปกรณ์ซึ่งทดแทนอวัยวะที่นอกจากจะช่วยในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน คุณภาพชีวิตแล้ว
ยังเป็นการเติมความสุขในวันที่บางสิ่งบางอย่างในชีวิตขาดหายไปด้วย
 
 
ที่มาของข่าว https://www.thairath.co.th/content/1260551
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก