ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รายงานพิเศษ : "อุทยานธรณีสตูล ถูกประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกในประเทศไทยและแหล่งที่ 5 ของอาเซียน"

วันที่ลงข่าว: 23/04/18

           การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและชุมชน ส่งผลให้ "อุทยานธรณีสตูล" มีความสมบูรณ์และหลากหลายทางชีวภาพ จนนำไปสู่การถูกประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกในประเทศไทยและแหล่งที่ 5 ของอาเซียน

          "อุทยานธรณีสตูล" มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยา ธรรมชาติ และวัฒนธรรมที่เล่าเรื่องราวเชื่อมโยงคุณค่าของผืนแผ่นดินกับวิถีชีวิตชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ด้วยการอนุรักษ์ การถ่ายทอดความรู้และการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่หลากหลาย โดยตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยครอบคลุม 4 อำเภอของจังหวัดสตูล คือ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมือง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูน มีเกาะน้อยใหญ่และชายหาดที่สวยงาม โดยผู้ที่มาท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับธรรมชาติ ความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตผู้คนที่ผูกพันกับพื้นที่แห่งนี้ ที่สำคัญพื้นดินแห่งนี้เป็นบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ปีก่อน ที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตยุคเก่า เกิดเป็นแหล่งสร้างออกซิเจนให้กับโลกในช่วงเวลานั้น ต่อมามีการยกตัวของเปลือกโลกก่อให้เกิดเป็นเทือกเขาและถ้ำ จนกลายเป็นบ้านหลังแรกของมนุษย์โบราณ ปัจจุบันมีผู้คนดำรงชีวิตโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของแผ่นดินนี้อยู่แล้วก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์

          เมื่อวันนี้ 17 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมสำนักเลขาธิการยูเนสโก ครั้งที่ 204 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีมติรับรองอุทยานธรณีสตูลเข้าเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) แห่งแรกในประเทศไทย ด้วยการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลก หรือ Unesco Global Geopark ถือเป็นอุทยานธรณีระดับโลกแห่งแรกในประเทศไทยและแหล่งที่ 5 ของอาเซียน ส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์ผ่านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา ไทยจะเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเพิ่มขึ้น ช่วยให้ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างยั่งยืนและเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านการอนุรักษ์และเสริมสร้างความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติทั่วโลก

          นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เล่าให้ฟังว่า สิ่งสำคัญที่ได้รับการคัดเลือกมาจากการบริหารจัดการพื้นที่โดยประชาชนในชุมชนเองทั้งหมด โดยยูเนสโกจะประเมินทุก 4 ปี หากอุทยานธรณีโลกแห่งใดมีการบริหารจัดการที่บกพร่องสามารถถูกถอดถอนจากการเป็นสมาชิกได้ แล้วต้องเว้นระยะเวลาอีก 2 ปี จึงจะสมัครใหม่ได้ โดย "อุทยานธรณีสตูล" มีแหล่งคุณค่าด้านธรณีวิทยามากกว่า 30 แหล่ง โดยเฉพาะความหลากหลายของซากดึกดำบรรพ์สัตว์ทะเลที่พบต่อเนื่องและหลากหลายในชั้นหินทั้ง 6 ยุค ของมหายุคพาลีโอโซอิก ซึ่งไทรโลไบท์สายพันธุ์ใหม่ที่พบครั้งแรกในประเทศไทยถึง 4 สายพันธุ์ และหินแบคทีเรียโบราณสโตรมาโตไลต์ ลำดับชั้นหินแบบฉบับของโลก ภูมิประเทศหินปูนที่มีถ้ำและความสวยงามระดับโลก หมู่เกาะเภตราและตะรุเตา รวมถึงมีโบราณสถาน วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวเลและความหลากหลายทางชีวภาพจำนวนมาก ที่สำคัญพบซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลที่สามารถบ่งชี้อายุทางธรณีได้อย่างสมบูรณ์เมื่อประมาณ 500 ล้านปีที่ผ่านมา คือ พบฟอสซิล เก่าแก่มาก่อนยุคไดโนเสาร์ หรือจูแรสซิก

ความโดดเด่นทางธรณีวิทยาและธรรมชาติของ "อุทยานธรณีสตูล" จะก่อให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลากหลายประเภท โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแนวผจญภัย เช่น ล่องแก่ง ดำน้ำ เที่ยวถ้ำ การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่น้ำตก ชายหาด การเลือกซื้อของฝากผลิตภัณฑ์ชุมชนและสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลายในอนาคต

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก