ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

2 รัฐมนตรี ก.วิทย์ฯ ไทย - จีน หนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 และ One Belt One Road

วันที่ลงข่าว: 05/04/18

          ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำทีมผู้บริหารกระทรวงฯ เข้าพบและร่วมหารือความร่วมมือไทย – จีน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับ นาย หวัง จื้อ กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี การสนับสนุน และความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มมูลค่าและขับเคลื่อนประเทศด้านเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเพื่อความยั่งยืนตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 และ One Belt One Road

นาย หวัง จื้อ กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ไทย - จีน มีความสัมพันธ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมานาน โดยจีนมีนโยบายในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รัฐบาลจีนยังวางแผนที่จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เป็นรากฐานในการขับเคลื่อนประเทศอีกด้วย สำหรับความร่วมมือของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้ร่วมมือกันนี้เพื่อขยายฐานไปยังภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย รวมถึงยกระดับแนวความคิดใหม่ๆ โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา ได้สนับสนุนและความร่วมมือกับประเทศไทยหลายโครงการ อาทิ Remote Sensing, เทคโนโลยีไทย - จีน การพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ โครงการเหล่านี้ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพเป็นอย่างดี

จากการที่ประเทศไทยมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นนโยบายที่สอดคล้องกับ One Belt One Road ของจีนที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้ในการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงตอบโจทย์การพัฒนาประเทศของจีนด้วย และมีความยินดีที่จะให้การสนับสนุนและความร่วมมืออันจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พัฒนาบุคลากรและการวิจัยร่วมกัน โครงการเหล่านี้เป็นแนวความคิดและจุดเริ่มต้นแนวที่สอดคล้องกับประเทศจีน โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลจีน เรื่อง China 2025 นั้นก็สอดคล้องกับ EECi ของประเทศไทย

          ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นอย่างมาก โดยเน้นนโยบายวิทย์แก้จน วิทย์สร้างคน และวิทย์เสริมแกร่ง และขอขอบคุณประเทศจีนที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด จากการหารือความร่วมมือทวิภาคีที่หนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีนที่มีนโยบายที่สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 ได้แก่ 1. การแลกเปลี่ยนบุคลากรด้าน ว. และ ท. 2. การสร้างห้องปฏิบัติการหรือศูนย์วิจัยร่วม 3. การสร้างความร่วมมือด้านอุทยานวิทยาศาสตร์ และ 4. การถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งกระทรวงวิทย์ฯ ได้ขับเคลื่อนและผลักดันร่วมกับกระทรวงวิทย์ฯ ของจีนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะศูนย์วิจัยร่วมด้านระบบรางแห่งแรกระหว่างไทย - จีน ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารสำนักงานหลัก ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพื่อใช้ทดสอบและพัฒนาระบบขนส่งทางราง และคาดว่าจะแล้วเสร็จและติดตั้งเครื่องมือในปลายปีนี้ และเชื่อว่าศูนย์วิจัยนี้ จะเป็นศูนย์กลางในเรื่องระบบรางของอาเซียน สำหรับโครงการ EECi หนึ่งในกลไกขับเคลื่อนสำคัญที่เป็นรูปธรรมตอบโจทย์นโยบาย One Belt One Road นั้น อันประกอบด้วย Biopolis, Aripolis, Krenovapolis กระทรวงวิทย์ฯ จีน จะสนับสนุนการพัฒนา EECi ด้วยการสนับสนุนส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา และนักวิจัยมาทำงานวิจัยร่วมกัน อีกทั้งเชิญภาคเอกชนของจีนที่มีความสนใจมาร่วมลงทุน และเสนอให้จัดทำ “ข้อเสนอความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างไทย - จีน” ซึ่งสอดรับกับแผนการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามนโยบาย One Belt One Road มีเป้าหลายในเทคโนโลยีหลายสาขา เช่น ชีวภาพจุลินทรีย์ พันธุกรรม ระบบขนส่งทางราง Plasma & Fusion อวกาศและภูมิสารสนเทศ รวมถึงการแลกเปลี่ยนกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในสาขาเป้าหมาย

          ปัจจุบันกระทรวงวิทย์ฯ ดำเนินโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลกระทบในวงกว้าง และจะร่วมมือกันในการยกระดับโครงการต่างๆ เช่น Bio Bank ที่จะรวบรวมข้อมูลชีวภาพของพืช สัตว์ จุลินทรีย์ และมนุษย์ในไทยมาเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลเพื่อการวิจัย รวมถึงการพัฒนา Dual Use Defense ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีร่วมกันทั้งด้านการทหารและการวิจัยพลเรือน โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เช่น การใช้ดาวเทียมสำรวจพื้นที่และทรัพยากรต่าง ๆ สำหรับการพัฒนาและบุคลากรการวิจัยนั้น ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมให้นักวิจัยของจีนเข้ามาร่วมทำงานวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในสภาพแวดล้อมของไทยมากขึ้น เช่น การพัฒนาสมุนไพรไปสู่ยา การเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การวิจัยเชื้อโรคเขตร้อน

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก