ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

บทความ : ถกประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ 2018

วันที่ลงข่าว: 03/04/18

          ที่ศูนย์การประชุมนานาชาตินครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ 2018 ในหัวข้อ “การส่งเสริมความมั่นคงและความมั่งคั่งในภูมิภาค” ว่า การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-ออสเตรเลียเพื่อสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งในภูมิภาคให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานปัจจัยหลัก ได้แก่.-

         -ความใกล้ชิดที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันได้พัฒนาเชิงบวกในทุกมิติ

         -อาเซียน-ออสเตรเลียมีผลประโยชน์ร่วมกันเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยกลุ่มประเทศขนาดกลางควรหันหน้าเข้าหากันเพื่อเป็นภูมิภาคที่เปิดกว้างอยู่บนพื้นฐานของกติกาที่จะรักษาผลประโยชน์ และเคารพสิทธิของทุกฝ่าย

         -การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน โดยเฉพาะความร่วมมือในด้านการศึกษาและความมั่นคงของมนุษย์

          นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีเสนอว่า อาเซียนควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และด้านดิจิทัล ส่งเสริมศักยภาพและโอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน และกล่าวว่า การก่อการร้ายสากล การเผยแพร่ลัทธิและแนวคิดที่ยึดหลักความรุนแรง และแนวคิดสุดโต่งที่นิยมใช้ความรุนแรงถือเป็นภัยคุกคามข้ามพรมแดนที่สำคัญ โดยไทยเห็นควรส่งเสริมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข่าวกรอง เสริมสร้างระบบการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียนและภูมิภาค นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้อาเซียนและออสเตรเลียร่วมมือกันสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และมีส่วนร่วมในการพัฒนากฎกติกาสากล

         ด้าน ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุไทยควรแสดงบทบาทนำ กำหนดจุดยืนของอาเซียนในประเด็นเจรจาหารือกับออสเตรเลีย เพิ่มความเชื่อมโยงในระดับต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในระดับประชาชน การลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ ความร่วมมือทางการศึกษาและการวิจัย ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน ทำให้หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการเชื่อมโยงด้านต่าง ๆ ทั้งระบบขนส่งและโลจิสติกส์ โทรคมนาคมการสื่อสาร โครงสร้าง ตลาดเงินตลาดทุน วัฒนธรรม การศึกษา การกำหนดระบบกฎหมาย กฎเกณฑ์ และกติการ่วมกันที่เป็นมาตรฐาน ที่สำคัญคือ ต้องนำไปสู่การปฏิรูปภายในของแต่ละประเทศเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล.

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก