ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อธิบดีกรมการแพทย์มอบแขน-ขาเทียม และอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ตามโครงการส่งเสริมศักยภาพคนพิการแขน-ขาขาด ที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

วันที่ลงข่าว: 26/03/18

          อธิบดีกรมการแพทย์มอบแขน-ขาเทียม และอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ตามโครงการส่งเสริมศักยภาพคนพิการแขน-ขาขาด ประจำปีงบประมาณ 2561 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช

          วันที่ 23 มี.ค.61 ที่ศาลาประชาคมโรงละครองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานในพิธีมอบแขน-ขาเทียม อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ โครงการส่งเสริมศักยภาพคนพิการแขน-ขาขาด ประจำปีงบประมาณ 2561 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยมีนายวิรัตน์ รักษ์พันธ์รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายแพทย์ ไพศาล เกื้ออรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมในพิธี

          นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มจำนวนคนพิการเพิ่มขึ้นทั้งจากโรคเรื้อรัง อุบัติเหตุ และสูงวัย โดยข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ. ศ. 2559 และข้อมูลกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ. 2560 พบว่าคนพิการได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการประมาณ 1,800,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.35 ของประชากรทั้งหมด และมีคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายมากที่สุด ประมาณ 870,000 ราย

          ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการโดยมีพระราชบัญญัติส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ. ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 เพื่อให้ผู้พิการได้รับสิทธิ โอกาสการคุ้มครองจากรัฐ เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลือจากรัฐ อย่างไรก็ตามคาดว่ายังมีคนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการเนื่องจากมีข้อจำกัด เช่น อุปกรณ์ค่อนข้างแพงหรือการเดินทางที่ไม่สะดวก กรมการแพทย์ได้ตระหนัก ถึงปัญหาระบบบริการสาธารณสุขของประเทศ และความต้องการของประชาชนการดำเนินงานต่าง ๆ ล้วนมีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาค โดยส่วนหนึ่งของการดำเนินการบริการทางการแพทย์ในประชาชนกลุ่มคนพิการได้มอบหมายให้สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ จัดทำแผนแบบองค์รวมรวมทั้งในด้านบริการและวิชาการเพื่อให้คนพิการแขนขา-ขาด ทั้งรายเก่ารายใหม่ได้เข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพเชิงรุก ซึ่งมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ. ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน สามารถให้บริการคนพิการทางการเคลื่อนไหวจำนวน 8,716 ราย

          สำหรับการดำเนินโครงการ ส่งเสริมศักยภาพคนพิการแขน-ขาขาด ประจำปีงบประมาณ 2561 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ของจังหวัดนครศรีธรรมราชในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานสาธารสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคม ชมรม และองค์กรต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือกับกรมการแพทย์ในการสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการคนพิการร่วมกันจัดโครงการส่งเสริมศักยภาพคนพิการแขน-ขาขาด ประจำปีงบประมาณ 2561 เพื่อช่วยให้คนพิการได้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้รับกายอุปกรณ์เสริมและเทียมรวมทั้งอุปกรณ์เครื่องช่วยที่จำเป็นและมีคุณภาพอันจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีคนพิการต่อไป

          นายแพทย์ไพศาล เกื้ออรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ในการดำเนินโครงการส่งเสริมศักยภาพคนพิการแขน-ขาขาด ประจำปีงบประมาณ 2561 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ของจังหวัดนครศรีธรรมราชในครั้งนี้ ดำเนินการระหว่างวันที่ 19-23 มีนาคม 2561 โดยได้จัดบริการตรวจประเมินและออกเอกสารรับรองความพิการเพื่อนำไปจดทะเบียนคนพิการ แก่คนพิการที่ยังไม่เคยมีบัตรประจำตัวคนพิการหรือทำบัตรหาย ผลิตแขน-ขาเทียม 122 ราย ซ่อมแซมแขน-ขาเทียม 46 ราย และในรายคนพิการขาขาดที่ไม่สามารถใช้ขาเทียมได้ ได้มอบอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องช่วยเดิน 15 ราย เป็นต้น นอกจากนี้ได้จัดอบรมเพิ่มพูนทักษะการคัดกรองและตรวจประเมินความพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ. ศ. 2550 แก่แพทย์พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 200 คนด้วย

          นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ในนามของชาวนครศรีธรรมราช ต้องขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ที่ได้เลือกจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเป้าหมายพื้นที่ดำเนินการในครั้งนี้

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก