ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

"สตีเฟน ฮอว์กิง" ชายบนรถเข็นผู้ใช้ชีวิตเพื่อปลดล็อคจักรวาล

วันที่ลงข่าว: 15/03/18

การจากไปของ "สตีเฟน ฮอว์กิง" นับเป็นข่าวเศร้าสำหรับคนในวงการฟิสิกส์ ที่ได้สูญเสียอัจฉริยะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งนอกจากสติปัญญาอันล้ำเลิศแล้ว ความพยายามต่อสู้โรคร้ายที่ทำให้เขาเคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่างๆ ไม่ได้ จนต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนรถเข็น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความอุตสาหะของนักจักรวาลวิทยาผู้นี้ และจุดประกายผู้คนอีกนับล้านบนโลกนี้

 

อัจฉริยะแห่งศตวรรษ 21 จากลาชั่วนิรันดร์

 

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2018 สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวอังกฤษเสียชีวิต รวมอายุได้ 76 ปี ซึ่งวันเสียชีวิตของเขายังตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักฟิสิกส์อัจฉริยะผู้ล่วงลับแห่งศตวรรษที่ 20 

 

ฮอว์กิงเกิดเมื่อ 8 ม.ค.1942 ซึ่งเป็นเวลา 300 ปีให้หลังการเสียชีวิตของ กาลิเลโอ กาลิเลอิ (Galileo Galilei) นักวิทยาศาสตร์ผู้โด่งดังอีกคนของโลก แต่เวลาเกิดและเวลาตายไม่ใช่สิ่งที่ทำให้นักฟิสิกส์อังกฤษแห่งยุคนี้ยิ่งใหญ่ หากแต่เป็นผลงานด้านจักรวาลวิทยาที่เป็นมรดกตกทอดสู่คนรุ่นถัดไป 

อัจฉริยะผู้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนรถเข็น ขยับส่วนใดๆ ของร่างกายไม่ได้ แม้กระทั่งขยับปากพูด ได้อุทิศเวลาชีวิตเกือบทั้งหมดไปกับความพยายามปลดล็อคความลับของเอกภพ ซึ่งเขาเชื่อว่าวิทยาศาสตร์คือพรหมลิขิตของเขา แต่โชคชะตาก็กลับโหดร้ายกับเขาแทน

 

ร่างกายไม่ไหวติง แต่สติปัญญาล้ำเลิศ

 

เมื่อปี 1963 ฮอว์กิงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม (motor neurone disease) และมีโอกาสมีชีวิตอยู่ต่อได้เพียง 2 ปี แต่เขาก็มีชีวิตอยู่มาได้ แม้ต้องนั่งติดรถเข็นเนื่องจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (amyotrophic lateral sclerosis: ALS) ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคที่โจมตีเซลล์ประสาทสั่งการที่ควบคุมการเคลื่อนไหว 

 

แม้จะรอดตายและได้ใช้เวลาที่เปรียบเสมือนโบนัสของชีวิต แต่โรคเอแอลเอสได้ทำให้ฮอว์กิงกลายเป็นคนทุพลลภาพ ไม่สามารถเคลื่อนไหว ไม่สามารถพูดสื่อสารได้ ต้องอาศัยการสื่อสารผ่านเสียงสังเคราะห์จากรถเข็นอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนข้อมูลความคิดจากสมองของเขาสู่โลกภายนอก

 

"ผมมักจะได้รับคำถามว่า รู้สึกอย่างไรที่เป็นโรคแอลเอเอส คำตอบคือ (รู้สึก) ไม่เท่าไร ผมพยายามอย่างยิ่งที่จะใช้ชีวิตให้เป็นปกติมากเท่าที่จะทำได้ และไม่คิดวกวนถึงอาการของโรค หรือรู้สึกเสียใจต่อสิ่งที่ขวางการทำสิ่งต่างๆ ของผม ซึ่งก็มีไม่มากนัก" ฮอว์กิงเคยเขียนบอกเล่าไว้ 

 

เป้าหมายใหญ่ปลดล็อคจักรวาล

 

ทว่ารายงานพิเศษของเอเอฟพีระบุว่า ฮอว์กิงนั้นห่างไกลจากความปกติอยู่มากโข ภายในกรอบร่างกายที่อ่อนแรงลงเรื่อยๆ กลับซ่อนสติปัญญาที่แหลมคมเอาไว้ รวมถึงความหลงใหลในธรรมชาติของเอกภพว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วจะสิ้นสุดในรูปแบบไหน

 

"เป้าหมายของผมนั้นเรียบง่าย นั่นคือ ความเข้าใจเอกภพอน่างหมดสิ้นเชิง ว่าเหตุใดเอกภพจึงเป็นอย่างที่เป็น และทำไมเอกภพจึงมีอยู่" ครั้งหนึ่งฮอว์กิงเคยกล่าวไว

 

งานส่วนใหญ่ของฮอว์กิงจะพุ่งความสนใจไปที่การรวมสัมพัทธภาพต่างๆ ทั้งธรรมชาติของอวกาศและเวลา ทฤษฎีควอนตัม และพฤติกรรมของอนุภาคเล็กที่สุดในเอกภพ เพื่ออธิบายการกำเนิดของเอกภพ และการวางระเบียบของเอกภพ

 

เมื่อปี 1974 ฮอว์กิงในวัย 32 ปี เขาได้เป็นหนึ่งในสมาชิกอายุน้อยที่สุดของราชบัณฑิตอังกฤษ (Royal Society) อีก 5 ปีต่อมาเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ลูคัสเซียนด้านคณิตศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นสถาบันที่เขาย้ายเข้าไปหลังออกจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยย้ายเข้าไปด้วยเป้าหมายเพื่อศึกษาดาราศาสตร์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยา

 

คนสุดท้ายที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ลูคัสเซียนก่อนฮอว์กิงคือ เซอร์ไอแซค นิวตัน (Isaac Newton) นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 17 

 

สนับสนุนมนุษยชาติเดินทางสู่อวกาศเพื่ออนาคต 

 

ฮอว์กิงยังเคยทดสอบทฤษฎีความโน้มถ่วงของนิวตันเมื่อปี 2007 ขณะอายุได้ 65 ปี โดยได้ขึ้นไปทดสอบบนเที่ยวบินไร้น้ำหนักที่สหรัฐฯ ซึ่งเที่ยวบินดังกล่าวเป็นจำลองเที่ยวบินอวกาศในวงโคจรต่ำด้วยการกระโดดสั้นๆ กลางอากาศ

 

ประสบการณ์ไร้น้ำหนักชั่วครู่ครั้งนั้นไม่ใช่เพียงของขวัญวันเกิดที่ได้รับ แต่ฮอว์กิงมองว่าประสบการณ์ดังกล่าวจะแสดงให้เห็นว่า มีไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้นความสำเร็จของผู้พิการทางร่างกายได้ และเพื่อกระตุ้นความสนใจในอวกาศ ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นเป้าหมายของมนุษยชาติ

 

"ผมคิดว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์จะไม่เหลืออนาคต หากไม่ออกไปอวกาศ ผมเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการถูกกวาดล้างไปหมดด้วยภัยพิบัติ อย่างโลกร้อนขึ้นอย่างฉับพลัน สงครามนิวเคลียร์ ไวรัสดัดแปลงพันธุกรรม หรือภยันตรายอื่นๆ" ฮอว์กิงได้ให้ความเห็นไว้เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่

 

เตือนระวัง "ปัญญาประดิษฐ์"

 

เมื่อเร็วๆ นี้ฮอว์กิงยังออกมาแสดงความเห็นว่า ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือเอไอ (AI) อาจจะช่วยกำจัดโรคร้ายและความยากจน แต่ก็ได้เตือนถึงภัยที่น่ากลัวอย่างยิ่ง เขาบอกว่าในระยะสั้นความสำเร็จในการสร้างเอไอจะเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ขออารยธรรมมนุษย์ ระหว่างที่เราได้ประโยชน์เอไอก็นำพาอันตรายมาได้เช่นกัน

 

"ยกตัวอย่างอาวุธร้ายแรงที่ขับเคลื่อนเองได้ หรือวิธีการใหม่ๆ ให้คนจำนวนน้อยกดขี่คนหมู่มาก" ปาฐกถาเตือนภัยเอไอจากฮอว์กิง ระหว่างเปิดศูนย์วิจัยเอไอแห่งใหม่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เมื่อปี 2016

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 14 มีนาคม 2561
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก