ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

จ.ฉะเชิงเทราจัดพิธีถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย ”

วันที่ลงข่าว: 05/03/18

          จ.ฉะเชิงเทราจัดพิธีถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

วันที่ 2 มี.ค.61 ที่ศาลาจัตุรมุข หน้าศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานในพิธีถวายราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร"พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” โดยมี นางเนตรชนก คำดี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา นายกิตติพันธุ์ โรจนชีวะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายชาธิป รุจนเสรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวนกว่า 500 คน เข้าร่วมประกอบพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะ

           โอกาสนี้ประธานในพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมฉายาลักษณ์ และอ่านถวายราชสดุดี เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็น "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” และร่วมเพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ นอกจากนี้ภายในงานมีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

           ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลถึงความสำคัญของช่างฝีมือต่อการพัฒนาประเทศ ดังพระราชดำรัสในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างแห่งชาติ ณ ลุมพินีสถาน เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2513 ความตอนหนึ่งว่า “ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่าง จึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบัน วิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดี และเพียงพอกับความต้องการ ในการส่งเสริมนั้น มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ ประการแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ ประการที่สอง ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือ ซึ่งต้องปรับปรุงให้มีความประณีต และประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ ประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย การช่วยเหลือทั้งสามประการนี้ จะต้องกระทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้ และผลกำไรสำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า ข้าพเจ้าใคร่ขอฝากความคิดทั้งนี้ไว้เป็นแนวปฏิบัติของท่านทั้งหลายต่อไป” จากกระแสพระราชดำรัสแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการทำงานที่มีความเป็นมาตรฐาน การพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานให้ก้าวทันกับวิทยาการ และการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน แม้เวลาจะผ่านมาถึง 48 ปีแล้ว แต่พระราชดำรัสที่พระราชทานให้ยังคงทันสมัยอยู่เสมอ และนับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานได้น้อมนำมาปฏิบัติในการพัฒนากำลังแรงงานให้มีฝีมือพัฒนาสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งด้านการผลิตสินค้าและบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ สร้างการยอมรับในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมโลก และเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติถวายพระราชสมัญญาแด่พระองค์ท่านให้เป็น “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” พร้อมกับกำหนดให้วันที่ 2 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก