ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต จัดงานวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2561

วันที่ลงข่าว: 05/03/18

          สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต จัดงานวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2561 เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

วันที่ 2 มี.ค. 61  ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต มีการจัดงานวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2561 โดยมีนายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในครั้งนี้ และมีนายประสงค์ นาแพร่ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต , หัวหน้าส่วนราชการ , ข้าราชการ , พนักงาน , ลูกจ้างในสังกัดกระทรวงแรงงาน และผู้แทนจากหน่วยงานราชการต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วม

          นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เป็นวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติถวายพระราชสมัญญาแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ให้เป็น "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" พร้อมกำหนดให้เป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติของทุกปี เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน หาที่สุดมิได้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2513 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือแรงงาน ณ ลุมพินีสถาน และทรงพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการช่างไทย ความตอนหนึ่งว่า "ช่างทุกประเภทเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของคนทุกคน เพราะ ตลอดชีวิตของเราเราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่างทุกวัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูงให้มีสิ่งของใช้สอยที่มีคุณภาพดี และเพียงพอกับความต้องการ ในการส่งเสริมนั้นมีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่ 3 ประการ ประการแรก ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ , ประการที่สอง ปัญหาเรื่องฝีมือซึ่งจะต้องปรับปรุงให้มีความประณีต และประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ และประการที่สาม ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาดเพื่อช่วยเหลือทั้ง 3 ประการนี้ จะต้องกระทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไรสำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า" จากกระแสพระราชดำรัส สะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลที่มีพระราชดำริถึงความสำคัญของช่างฝีมือ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อคนในสังคมปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้มีฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพราะนั่นหมายถึงคุณภาพของสินค้าและบริการ ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย ซึ่งกระทรวงแรงงานได้น้อมนำมาปฏิบัติในการพัฒนากำลังแรงงาน ให้มีฝีมือสู่มาตรฐานสากลและสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งด้านการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ สร้างการยอมรับในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมโลก

โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการ "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" และมีซุ้มแสดงผลงานของผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก