ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

โครงการโครงข่ายทางรถไฟแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันที่ลงข่าว: 26/02/18

          สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรือ อาเซียน (ASEAN) มีประเทศสมาชิกจำนวน ๑๐ ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย อาเซียนถือว่ากลุ่มประเทศที่มีพลังในด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากมีพื้นที่ราว 4,479,210 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรกว่า 630 ล้านคน ทำให้จีดีพีของอาเซียนรวมกันคิดเป็นมูลค่าราว 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

         หลังจากการเปิดประตูเข้าสู่อาเซียนของประเทศสมาชิก ทำให้เกิดการหมุนเวียนและการเคลื่อนไหวด้านแรงงาน การขนส่งต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคอาเซียน ซึ่งทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อให้เกิดศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขนส่งทางรถไฟและการค้าระหว่างอาเซียนและจีน ทำให้การคมนาคมขนส่งทางรถไฟจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงขนานใหญ่ เพื่อรองรับการค้าที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น

         โครงการโครงข่ายทางรถไฟแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งใน 7 เส้นทางการคมนาคมตามแผน Belt and Road ของจีน ซึ่งโครงการนี้จะเป็นการก่อสร้างทางรถไฟที่มีความยาวกว่า 7,000 กิโลเมตร จากมณฑลยูนนานของจีน ผ่านลาว กัมพูชา ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย รวมถึงเส้นทางรถไฟสายย่อยต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงพื้นที่แหล่งสินค้าโภคภัณฑ์และอุตสาหกรรมของอาเซียนกับท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ในภูมิภาค โดยการเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางรถไฟแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากการพัฒนาระบบขนส่งภายในภูมิภาคและการแก้ปัญหาการขนส่งสินค้าระหว่างจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการค้าในภูมิภาคเพิ่มขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการในอาเซียนจะสามารถขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือได้รวดเร็ว และช่วยให้การสัญจรไปมาระหว่างประเทศมีความสะดวกสบายและรวดเร็วขึ้น

          สำหรับประเทศไทย รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งเส้นทางรถไฟ โดยในเดือนสิงหาคม 2560 รัฐบาลไทยได้อนุมัติงบประมาณ 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ความยาว 252 กิโลเมตร เพื่อรับมือการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน ทั้งนี้ นอกจากประเทศไทยแล้วยังมีประเทศสมาชิกในอาเซียนที่วางแผนจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เช่น ประเทศมาเลเซียเตรียมจะใช้งบประมาณ 75 พันล้านในการปรับปรุงทางรถไฟ และอีก 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการรถไฟทางคู่ โดยจะเป็นการพัฒนาระบบรางความยาว 197 กิโลเมตร เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางจากตอนใต้ของคาบสมุทรมาเลเซียไปยังกัวลาลัมเปอร์ให้เหลือเพียง 3.5 ชั่วโมง จากเดิม 6 ชั่วโมง นอกจากนั้น รัฐบาลมาเลเซียและสิงคโปร์ได้ร่วมมือกันก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกัวลาลัมเปอร์ - สิงคโปร์ ความยาว 350 กิโลเมตร มูลค่า 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้การเดินทางไปมาระหว่างเมืองใช้เวลาเพียงแค่ 90 นาที โดยโครงการนี้มีกำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2569

จะเห็นได้ว่า โครงข่ายทางรถไฟแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่าเป็นโครงการใหญ่ที่ประเทศสมาชิกในอาเซียนได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนและเร่งพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศตน เพื่อรองรับและเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลดีในระยะยาวและเป็นส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีของประเทศสมาชิกและประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

เรียบเรียงโดย เพ็ญกมล ประเสริฐกุล

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก