ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา

วันที่ลงข่าว: 15/02/18

          เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2561 เวลา 08.46 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการจัดสร้างขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กพิการทางการเห็นในแถบภาคเหนือตอนบน ซึ่งมีผู้พิการทางการเห็นมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ คือ จำนวน 2 หมื่น 9 พัน 567 คน ขณะที่มีโรงเรียนสอนคนตาบอดเพียง 3 แห่ง ไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้พิการทางการเห็น โดยมูลนิธิฯ ได้จัดทอดผ้าป่าสามัคคีมหากุศลโครงการ "ปันรักให้เด็กตาบอดภาคเหนือตอนบน" เพื่อระดมทุนในการก่อสร้าง และได้รับประทานชื่อว่า "อาคารสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" โรงเรียนนี้ เปิดสอนเมื่อปี 2559 ในระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบันมีนักเรียน 22 คน นอกจากจะให้ความรู้ อบรมคุณธรรมจริยธรรมแก่เด็กแล้ว ยังน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพื่อให้นักเรียนมีจิตใจเข้มแข็ง สามารถช่วยเหลือตนเอง และดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข สำหรับการเรียนการสอนนั้น จะเริ่มที่การกระตุ้นประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวของเด็ก เพื่อให้กล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรง จากนั้นจะส่งไปฝึกพัฒนา 4 ด้าน คือ ร่างกาย , อารมณ์และจิตใจ , สังคม และสติปัญญา โดยใช้สื่อนวัตกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ มีการสอนดนตรีพื้นเมืองให้แก่เด็ก สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ที่ผ่านมาได้ไปร่วมแสดงในงานคนพิการที่จังหวัดเชียงราย โรงเรียนยังฝึกทักษะในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การรีดผ้า การทำอาหาร เพื่อให้เด็กสามารถช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้ และมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยฯ ได้นำสื่อการเรียนการสอนต่าง ๆ สำหรับนักเรียนพิการทางการเห็น ไปมอบแก่โรงเรียน อาทิ YMB reading machine ใช้สำหรับการอ่านออกเสียง และการออกเสียงพูดได้ถึง 5 ภาษา Braille Display (เบรล-ดิสเพล) ใช้สำหรับแสดงผลจากตัวอักษรปกติเป็นอักษรเบรลล์ จิ๊กซอแผนที่และสื่อภาพนูนให้เด็กได้สัมผัส เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้

          โอกาสนี้ ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อน้องผู้พิการทางสายตาจากจังหวัดต่าง ๆ อาทิ ถุงหอม เสื้อยืด การบูร ผ้ามัดย้อม และไข่เค็ม

เวลา 11.20 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดถวาย เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเบ็ตตี้ดูเมน หมู่ 3 ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา โรงเรียนนี้ เกิดขึ้นจากพระเมตตาของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี โดยเมื่อปี 2510 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร , ทรงพบว่าเยาวชนและเด็กในวัยเรียนจำนวนมากยังขาดโอกาสทางการศึกษา จึงมีพระราชกระแสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ได้มีโอกาสรับการศึกษา อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี , ซึ่งครั้งนั้น มีท่านผู้หญิงเบ็ตตี้ ดูเมน พระสหาย ได้ตามเสด็จ และได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล จัดสร้างอาคารเรียน

ปัจจุบัน เปิดทำการสอนในระดับก่อนประถมศึกษา ถึงระดับประถมศึกษา มีนักเรียน 110 คน มีครูตำรวจตระเวนชายแดน หรือครู ตชด. 8 นาย ครูพลเรือน 5 คน ครูอัตราจ้างจากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน 2 คน

         ที่ผ่านมา มีการพัฒนาการเรียนการสอนตามโครงการพระราชดำริ ในด้านการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย มีผลสัมฤทธิ์ คือ เด็กนักเรียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยนหรือเย้า และเผ่ามง สามารถเขียน อ่าน และพูดได้ชัดเจนร้อยละร้อย และยังเป็นโรงเรียนต้นแบบของการแก้ไขปัญหาในการสอนวิชาภาษาไทย โดยมีครูจากโรงเรียนต่าง ๆ มาเยี่ยมชมกิจกรรมการเรียนการสอนแล้วหลายแห่ง ทั้งนี้ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในการสอบโอเนตปีการศึกษา 2559 วิชาภาษาไทย มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดในระดับประเทศ

          โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ที่กำลังศึกษาอยู่จำนวน 10 คน เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลรายงานผลการศึกษา ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

ด้านการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ฝึกให้นักเรียนทำการทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์พืช เช่น แอฟริกันไวโอเลต สตรอว์เบอร์รี่ และหญ้าหวาน เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชทางด้านพฤษศาสตร์ของโรงเรียนฯ

โอกาสนี้ ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทาน โดยมีผู้เข้ารับบริการตรวจรักษาโรคทั่วไปและด้านทันตกรรม รวมจำนวน 181 คน ส่วนใหญ่เจ็บป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ , กระดูกและกล้ามเนื้อ ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับผู้เจ็บป่วยไว้ในพระราชานุเคราะห์ จำนวน 3 คน ซึ่งพิการแต่กำเนิด คลอดก่อนกำหนด และอุบัติเหตุไฟใหม้เท้าทำให้เท้าผิดรูป และทรงเยี่ยมราษฎรที่ไปเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ ส่วนใหญ่เป็นราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

จากนั้น ทอดพระเนตรกิจกรรมโครงการตามพระราชดำริฯ ที่โรงเรียนดำเนินการ อาทิ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีการปลูกพืชผักสวนครัวแบบผสมผสาน และเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่และปลา เน้นสอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากช่วยให้นักเรียนมีทักษะในการทำการเกษตรแล้ว ยังได้ผลผลิตที่เพียงพอในการประกอบอาหารเลี้ยงนักเรียน และยังมีเหลือให้แก่นักเรียนบ้านไกลนำไปให้ผู้ปกครองได้ประกอบอาหารที่บ้านด้วย ซึ่งนักเรียนบ้านไกลมีจำนวน 77 คน ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2558 โรงเรียนฯ ยังจัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับเป็นต้นแบบให้ชุมชนเข้าไปศึกษา

          โครงการฝึกวิชาชีพ มีการสอนทำไม้กวาด และการนำผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะถั่วมะแฮะ ซึ่งเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาแปรรูปได้หลากหลายชนิด เช่น ทำน้ำเต้าหู้ น้ำพริก และขนมหม้อแกง อีกทั้งทำกล้วยฉาบ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์งานอาชีพของนักเรียนและกลุ่มแม่บ้าน โดยได้รับการฝึกสอนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา

          นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียน โดยสอนให้ปลูกชาเจียวกู่หลาน ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านของชาวไทยภูเขาเผ่าเย้า ที่มีสรรพคุณทางแพทย์แผนไทย ปัจจุบันโรงเรียนได้รับซื้อใบชาเจียวกู่หลานจากชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้นักเรียนฝึกการแปรรูปชาเจียวกู่หลานแบบสำเร็จรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ที่สำคัญเป็นที่นิยมของตลาดอีกด้วย

          ในการนี้ ได้พระราชทานพระราชดำริให้ กรมชลประทาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. ร่วมกันจัดหาน้ำให้แก่โรงเรียนฯ หน่วยพิทักษ์ป่าหญ้าไทร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง และราษฎรบ้านปางพริก โดยดำเนินการปรับปรุงฝายลำห้วยตาด พร้อมระบบส่งน้ำและถังพักน้ำ จำนวน 7 แห่ง ปรับปรุงฝายห้วยกุดพร้อมระบบส่งน้ำ และถังพักน้ำ จำนวน 2 แห่ง และปรับปรุงฝายโรงเรียน พร้อมระบบส่งน้ำและถังพักน้ำ จำนวน 2 แห่ง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและเป็นแหล่งน้ำให้แก่สัตว์ป่า และสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโรงเรียนฯ ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี

          เวลา 15.00 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุ 4 รอบ 2 เมษายน 2546 ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ทรงติดตามการดำเนินโครงการตามพระราชดำริฯ ซึ่งทางโรงเรียนเปิดทำการสอนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบันมีนักเรียน 137 คน ครู ตชด. 13 นาย ครูพลเรือน 3 คน ผลสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ จึงได้จัดสอนเสริมหลังเลิกเรียน ส่งครูไปอบรมที่โรงเรียนเม็งรายมหาราช ใน 4 กลุ่มสาระวิชา และในปีการศึกษา 2560 ได้เพิ่มครูอัตราจ้างพระราชทาน 2 คน ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ส่วนวิชาภาษาอังกฤษได้รับการสนับสนุนครูสอนจากมูลนิธิพุทธรักษา นักเรียนส่วนใหญ่มีภาวะโภชนาการอยู่ในเกณฑ์ดี มีน้ำหนักส่วนสูงสมส่วนตามเกณฑ์ และนักเรียนที่จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษา

           ในการนี้ ทอดพระเนตรการเรียนการสอนภาษาจีน , ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ , การเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะด้านภาษาจีน ควบคู่ไปกับทักษะทางวิชาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีนักเรียนบางส่วนไปเรียนภาษาจีนเสริมที่โรงเรียนจิ้งฉวินวิทยา ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนประมาณ 3 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมทักษะการจัดทำบัญชีผ่านกิจกรรมสหกรณ์โรงเรียน ส่งเสริมทักษะอาชีพการทำไม้กวาดดอกหญ้าซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรภายในโรงเรียน อาทิ กล้วยฉาบ , โดนัทกล้วย , ข้าวเกรียบฟักทอง และแหนมเห็ด โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ผลิตเนื้อสัตว์ได้เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนถั่วเมล็ดแห้ง ผักและผลไม้ ได้ผลผลิตร้อยละ 80 เนื่องจากประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลากในช่วงฤดูฝนทำให้พื้นที่เพาะปลูกเสียหาย ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขโดยย้ายไปทำการเพาะปลูกในบริเวณเนินเขา

โอกาสนี้ ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทาน และทรงเยี่ยมราษฎรที่ไปเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ

          เวลา 16.35 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนบ้านนาโต่ (วปรอ. 344 อุปถัมภ์) หมู่ 20 ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยเมื่อปีพุทธศักราช 2553 ได้โอนย้ายมาอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า ลาหู่ ไทยใหญ่ ลีซู จีนฮ่อ และเนื่องจากโรงเรียนอยู่ห่างจากจังหวัดสาด และเมืองตูมของประเทศเมียนมา เพียง 5 กิโลเมตร จึงมีเด็กจากเมียนมา มาอาศัยอยู่กับญาติ เพื่อเข้ามาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ด้วย ส่วนใหญ่ผู้ปกครองยังมีปัญหายากจน และไม่มีความรู้ด้านโภชนาการ ทำให้นักเรียนขาดสารอาหาร ร้อยละ10 โดยนักเรียนในระดับอนุบาล ไปจนถึงประถมต้น มีปัญหาการสื่อสาร เนื่องจากใช้ภาษาถิ่น ทำให้พัฒนาการเรียนล่าช้า ทั้งนี้ โครงการพัฒนาดอยตุง ได้เข้าไปช่วยเหลือ โดยสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาการเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงชั้นประถมศึกษาศึกษาปีที่ 3 รวม 7 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 1 แสน 5 หมื่นบาท และส่งเสริมการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง โดยส่งครูไปฝึกอบรม เพื่อเรียนรู้การสอนแบบมอนเตสเซอรี่ หรือการยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ส่วนในภาคปิดเทอมสนับสนุนเงินค่าจ้างครูสอนเสริมแก่เด็กที่พัฒนาการเรียนล่าช้าส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยครูใช้วิธีการสอนแบบเขียนบนกระดานดำน้อยลง แต่สอนให้เด็กปฏิบัติและคิดด้วยตนเองมากขึ้น ส่งผลให้นักเรียน เรียนรู้เร็วขึ้น ครูใช้สื่อการเรียนการสอนที่โครงการพัฒนาดอยตุงสนับสนุนมากกว่าสอนในตำราเรียน ข่วยให้นักเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้คล่อง

โรงเรียนได้สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านโครงการฝึกอาชีพ เพื่อให้ผู้ปกครองและนักเรียนมีรายได้เสริม โดยจัดตั้งกลุ่มปักผ้าลาหู่ ไทยใหญ่ และอาข่า โดยเฉพาะกลุ่มปักผ้าอาข่า ผู้ปกครองสอนให้นักเรียนปักผ้าลายโบราณ อยู่ที่บ้านตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนสามารถพัฒนาต่อยอดคิดสร้างสรรค์ลวดลายใหม่เองได้ นักเรียนจึงมาสอนให้รุ่นน้องที่โรงเรียนสืบทอดวิธีการปักผ้าอาข่าแบบโบราณ ซึ่งปัจจุบันนักเรียนมีรายได้ทั้งทำร่วมกับผู้ปกครองเพื่อนำไปขายส่งตามแหล่งท่องเที่ยว และขายให้กับโรงเรียน

          สำหรับโครงการส่งเสริมสหกรณ์ นักเรียนบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง ครูเป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษา โดยครูได้พานักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมที่ไร่สิงห์ปาร์ค ในการอบรมทำบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง วิธีทำบัญชีสำหรับกิจกรรมอาหารกลางวัน บัญชีสำหรับผลิตผลทางการเกษตร และบัญชีครัวเรือนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ที่บ้าน

          ทั้งนี้ นักเรียนให้ความสนใจในการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ และชอบเรียนมากเป็นพิเศษ และเรียนรู้ได้รวดเร็ว ซึ่งทางโรงเรียนได้รับการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากโครงการโรงเรียนประชารัฐ

โรงเรียนนี้ มีบุคลากรทางการศึกษา 12 คน นักเรียน 264 คน มีนักเรียนไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ 28 คน จากการมีหลายชนเผ่าทำให้นักเรียนมีวัฒนธรรมและความคิดที่แตกต่างกัน ครูจึงจัดกิจกรรมโครงการคุณธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ให้นักเรียนตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี

         โรงเรียนประสบปัญหา คือ ครูมีประสบการณ์ทางการสอนเพียง 2 - 3 ปี ทำให้ขาดความชำนาญในการสอน และขาคแคลนครูสอนวิชาเกษตรกรรมและการดำเนินงานอาชีพ อีกทั้งประสบปัญหาน้ำท่วมโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ในฤดูน้ำหลาก เนื่องจากอยู่ติดแม่น้ำคำ

          สำหรับกิจกรรมขยายสู่ชุมชนทางโรงเรียนได้ขยายพันธุ์สุกรแจกจ่ายให้ชุมชน และรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรเพื่อประกอบอาหารกลางวันให้นักเรียนโดยมีเงื่อนไขเป็นแปลงเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี และให้ความรู้แก่ชุมชนในเรื่องการคัดแยกขยะ และอนามัยสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม

          โดยหมู่บ้านนี้ ยังมีโรงเรียนสอนภาษาจีน ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 ชื่อโรงเรียนจิ้งฉวินวิทยา ผู้เรียนจบจะเดินทางไปประกอบอาชีพเป็นล่ามและมัคคุเทศก์ ที่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไต้หวัน เนื่องจากมีรายได้ดี ในหมู่บ้านจึงมีแต่ผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่

          เวลา 18.10 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ ท้องพระโรง พระตำหนักดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย พระราชทานพระราชวโรกาสให้ รองศาสตราจารย์วันชัย ศิริชนะ นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชียงราย นำคณะกรรมการสมาคมฯ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน ซึ่งเป็นรายได้จากการแข่งขันกอล์ฟการกุศล ครั้งที่ 24 ประจำปี 2560 โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

จากนั้น พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นางพรรณราย จันทยศ ประธานกลุ่มพลังเพื่อพ่อของแผ่นดิน จังหวัดเชียงราย นำคณะกรรมการกลุ่มรวมพลังเพื่อพ่อของแผ่นดินฯ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

ข่าวในพระราชสำนัก สทท.

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก