ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

วิศวกรรมติดล้อ…ให้โอกาสผู้พิการเคลื่อนไหว

วันที่ลงข่าว: 05/02/18
ที่มาคอลัมน์ ทีนส์ทอล์กอาเซียน ผู้เขียนธนวัฒน์ กะโห้ทอง 
นายธนวัฒน์ กะโห้ทอง ชื่อเล่น แชมป์
        ผมชื่อ นายธนวัฒน์ กะโห้ทอง ชื่อเล่น แชมป์ กำลังศึกษาปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
(CprE.) ปี 3 ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (ECE) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ผมจบจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ พุแค สระบุรี ช่วงที่กำลังจะเรียนต่อในสายวิชาที่ชอบ ก็เกิดประสบอุบัติเหตุทางจักรยานยนต์ (ไม่ใช่สายแว๊นป่วนเมืองนะครับ555) ผลจากอุบัติเหตุทำให้ผมเดินไม่ได้ ต้องนั่งรถวีลแชร์ตลอดเวลา
         ตอนนั้นผมท้อมากๆ และคิดว่าคงไม่ได้เรียนต่ออีก แต่เหมือนบุญยังเหลืออยู่ ผมได้เข้าร่วมโครงการที่ส่งเสริมให้คนพิการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ ชื่อว่า วิศวกรรมติดล้อ ของวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มจพ.ที่เปิดโอกาสให้กับบุคคลที่มีความพิการทางด้านการเคลื่อนไหว เนื่องจากการเรียนส่วนมากใช้การคิด และการเขียนโปรแกรม ไม่ค่อยลงพื้นที่ไปส่วนงานที่ต้องใช้ร่างกายมากนัก ตอนแรกก็กลัวๆ เพราะเราไม่ค่อยถนัดทางด้านแบบนั้น แต่ก็ตัดสินใจเข้าเรียนเพราะไม่อยากเป็นภาระของครอบครัว และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคต
แชมป์ กำลังศึกษาปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
        ผมได้รับโอกาสที่ดี และได้รับทุนการศึกษาจากกองกิจการนักศึกษา มจพ.เป็นเงินสนับสนุนการเรียน และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และทุนจากสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ.เป็นเงินช่วยเหลือสำหรับการใช้ในชีวิตประจำวัน
การเรียนในระยะแรกๆ ผมต้องปรับตัวอยู่สักสักระยะหนึ่ง เพราะยังไม่ชินกับการนั่งวีลแชร์ดีนัก ชีวิตการเรียนถือว่าอยู่ระดับกลางๆ เพราะไม่ค่อยถนัด แต่พยายามทำให้ดีที่สุด ด้านการใช้ชีวิตยิ่งสำคัญ ที่ผมเรียนได้อยู่รอดทุกวันนี้ ก็เพราะได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน สำหรับผมถือว่าเพื่อนเป็นสิ่งสำคัญกับผมมาก
          ความคิดเกี่ยวกับ ASEAN ผมคิดว่ามันดีมากๆ เลยนะ มันเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นชุมชนที่แข็งแกร่ง สร้างโอกาสต่างๆ เพราะการเป็นนักศึกษาในยุคนี้ ถ้าได้ไปแลกเปลี่ยนความรู้กับประเทศในกลุ่มอาเซียน เรียนจบมาถือว่าได้อะไรเยอะมากๆ เป็นต้นทุนชีวิตในการทำงานด้วย ส่วนตัวผมอยากให้คนพิการมีส่วนร่วมใน ASEAN มากขึ้น แลกเปลี่ยน หรือหางานให้คนพิการมากขึ้น หากบางประเทศไม่ได้รองรับคนพิการที่ดี ก็ยังมีประเทศอื่นๆ ที่รองรับได้อยู่ แน่นอนว่ามันจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการได้
          จริงๆ อยากให้แลกเปลี่ยนนักศึกษาในประชาคม ASEAN มากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะถ้าคนต่างถิ่นมาอยู่ด้วยกัน จะช่วยกันระดมสมอง ความคิดที่หลากหลาย แนวคิดใหม่ๆ ที่เรายังไม่เคยได้เจอในการเรียน แถมยังได้เรียนรู้วัฒนธรรม การใช้ชีวิตของประเทศต่างๆ ได้อีกด้วย
          ในมหาวิทยาลัยก็อยากให้มีการเรียนรู้ร่วมกับชาวต่างชาติ หรือเพื่อนนักศึกษาในประชาคมอาเซียน อาจจะเป็นนักศึกษาที่เข้ามาเรียนจากประเทศอื่น หรืออาจารย์ ถือว่าได้แลกเปลี่ยนความรู้ให้กันและกัน

ที่มา: https://www.matichon.co.th/news/826278
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ มติชนออนไลน์ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก