ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

พลังชุมชนดูแลสุขภาวะคนไทย

วันที่ลงข่าว: 02/02/18

เรียบเรียงโดย พรรณี ตั้งใจสถาปัตย์

          สุขภาวะ ในอดีตถูกมองว่าเป็นเรื่องของคุณหมอคุณพยาบาล ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลแต่ละคนต้องดูแลตนเองไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ในปัจจุบันหลักคิดได้เปลี่ยนมาเป็นในเรื่องสุขภาพของทุกคนและทุกหน่วยงาน เป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัวมนุษย์ให้ลดความเสี่ยง ป้องกันไว้ก่อน ไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยจนต้อง ไปใช้บริการของสถานพยาบาล

         หลายปีมานี้ มีความพยายามสร้างชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อให้ดูแลกันเอง ในเบื้องต้น โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ต้องได้รับการเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ หลายชุมชนทำได้ดีจนกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบ ในรายงาน “นวัตกรรมสุขภาพจิตชุมชน ปี 2560 ชุมชนเป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ร่วมสร้างสุขภาพจิตที่ดี” ซึ่งจัดทำโดย สำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต แนะนำพื้นที่ด้วย 3 คำสั้น ๆ คือ “รวมแล้วแยก” หมายถึง รวบรวมปัญหาและทรัพยากรทั้งหมดที่มีเพื่อร่วมกันวางแผนแก้ไขอย่างรอบด้าน ก่อนแยกย้ายไปดำเนินการเพื่อดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่กลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มวัยเรียน - วัยรุ่น กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มวัยสูงอายุ ช่วยเหลือสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล และช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้พิการ ผู้ประสบภัยต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งการอาศัยความรัก ความห่วงใย ความเอื้ออาทรเหมือนเครือญาติพี่น้องที่ต้องดูแลเอาใจใส่ พึ่งพากันและกันนำไปสู่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม และบรรลุเป้าหมาย ที่วางไว้ร่วมกันคือ มุ่งสู่ตำบลน่าอยู่ควบคู่สุขภาวะที่ดี ประชาชนมีส่วนร่วมทุกด้าน ทุกภาคีเชื่อมประสานอย่างไร้รอยต่อ และเอื้ออาทรไม่ทอดทิ้งกัน นำข้อมูลที่ได้มาสร้างความเข้าใจ เข้าถึงปัญหา และบริบทชุมชน โดยมีแกนนำสำคัญคือ ภาคประชาชนที่เป็นเจ้าของท้องถิ่นอย่างแท้จริง การสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมกันทำงาน ร่วมวางแผน ดูแลสุขภาพ คนในพื้นที่อย่างเป็นระบบคือ สุขสบาย สุขสนุก อีกด้านหนึ่งไม่เฉพาะแต่โรคภัยไข้เจ็บเท่านั้นที่เป็นปัญหาด้านสุขภาพ ทว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนเป็นอีกปัจจัยที่ก่อผลกระทบต่อภาระงบประมาณด้านสาธารณสุขของคนไทย ซึ่งไม่อาจยกภารกิจทั้งหมดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่เพียงฝ่ายเดียวได้นำมาสู่การส่งเสริมบทบาทของชุมชนส่วนภายในชุมชนเองมีปัญหาไม่ต่างกัน มีมุมที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนน ทำให้ต้องมีการระดมความคิดเห็น จนได้ข้อสรุปว่าต้องติดป้ายเตือนตามจุดเสี่ยง รวมถึงออกข้อบังคับเรื่องจำกัดความเร็ว เว้นแต่ช่วงเทศกาล เช่น วันปีใหม่ วันสงกรานต์ที่ปริมาณรถผ่านไปผ่านมาจำนวนมาก ทำให้ยังเกิดอุบัติเหตุจากคนภายนอกที่ผ่านไปมา จึงต้องเพิ่มการเฝ้าระวังกันมากขึ้น

          จะเห็นได้ว่า ชุมชนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสุขภาพ เพราะคงไม่มีใครรู้ปัญหาและบริบทแวดล้อมได้ละเอียดไปกว่าคนในพื้นที่หรือคนในชุมชนเอง แต่ถึงกระนั้นบางปัญหาอาจเกินกำลังของชุมชน ทั้งนี้ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ และกำลังคน หรือแม้แต่ข้อกฎหมาย จึงเป็นหน้าที่ภาครัฐที่จะต้องเข้าไปเติมเต็มแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สมบูรณ์.

 

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก