ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

พม.ยกระดับพัฒนาศักยภาพผู้แสดงความสามารถสู่มืออาชีพ

วันที่ลงข่าว: 15/01/18

          พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพผู้แสดงความสามารถ “Thailand Public Talent Show” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. ๒๕๕๙ ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้แสดงความสามารถได้พัฒนาทักษะความสามารถ และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ เป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางในการจ้างงานให้กับผู้แสดงความสามารถ

          ทั้งนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทานฯดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์ในการจัดระเบียบ คุ้มครอง พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทาน และแยก “ผู้แสดงความสามารถ” ออกจากผู้ทำการขอทานอย่างชัดเจนเพื่อสร้างโอกาสให้ผู้แสดงความสามารถได้พัฒนาทักษะ และยกระดับการแสดงสู่มืออาชีพ สามารถดำรงตนในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ซึ่งจากสถิติการออกบัตรผู้แสดงความสามารถ ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ ถึง ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๐ พบว่า มีผู้มาทำบัตรผู้แสดงความสามารถ ๒,๖๘๒ ราย แบ่งเป็น ๖ ประเภทตามความสามารถ ได้แก่ ดนตรี ๒,๓๖๖ ราย นาฏศิลป์ ๑๖๒ ราย ศิลปะ ๘ ราย กายกรรม ๔ ราย ละคร ๒ ราย และอื่นๆ เช่น การแสดงมายากล เต้น Break Dance ๑๔๐ ราย กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย

          พลเอก อนันตพร กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ “ผู้แสดงความสามารถ” จึงได้ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยจัดกิจกรรมพัฒนาผู้แสดงความสามารถให้มีมาตรฐานอย่างมืออาชีพ โดยจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. ๒๕๕๙ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ รวมถึงการพัฒนาทักษะและมาตรฐานการแสดงในที่สาธารณะ โดยแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ดังนี้ ระดับจังหวัด ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการจัดทำแผนการพัฒนาศักยภาพผู้แสดงความสามารถในพื้นที่ เช่น การจัดหาสถานที่ในชุมชนเพื่อให้ผู้แสดงความสามารถมีพื้นที่ในการแสดงเพิ่มมากขึ้น  สร้างการรับรู้และพัฒนาพื้นฐานผู้แสดงความสามารถระดับพื้นที่ ส่งเสริมการมีงานทำ ระดับภาค จัดตั้งศูนย์กลางการพัฒนาความสามารถเฉพาะด้าน (Hub) โดยนำร่อง ๒ ด้าน ประกอบด้วย ๑) ด้านดนตรี ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร ดำเนินการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และความร่วมมือจากสถาบันดนตรีคนตาบอดเป็นวิทยากรให้ความรู้ ๒) ด้านหมอลำ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่นดำเนินการ โดยได้รับความร่วมมือจากแม่ครูฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดง หมอลำ จังหวัดขอนแก่น เป็นวิทยากรให้ความรู้ ระดับประเทศ เปิดโอกาสให้ผู้แสดงความสามารถได้แสดงศักยภาพ โดยจัดกิจกรรมตลาดนัดผู้แสดงความสามารถ Public Talent Show ๒๐๑๘ และส่งต่อไปยังสถาบันดนตรีชั้นนำระดับประเทศต่อไป

          สำหรับผู้ที่ประสงค์จะทำบัตรผู้แสดงความสามารถ สามารถติดต่อที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร ส่วนภูมิภาคติดต่อที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด และผู้แสดงความสามารถที่ประสงค์เข้ารับการพัฒนาทักษะความสามารถเฉพาะด้านดนตรี/หมอลำ/มโนราห์ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดทุกจังหวัด หรือ Facebook : Beggar in Thailand

          กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยใช้กลไกประชารัฐในการขับเคลื่อนภารกิจ ไปสู่ความสำเร็จ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม หากท่านใดประสบปัญหาความเดือดร้อน สามารถโทรแจ้งสายด่วน ๑๓๐๐ เพื่อขอคำปรึกษาแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง พลเอก อนันตพร กล่าวในตอนท้าย

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 14 มกราคม 2561
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก