ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นายกฯตอกย้ำท้องถิ่นใช้งบฯต้องสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ

วันที่ลงข่าว: 08/01/18

          นายกฯย้ำท้องถิ่นใช้งบฯต้องสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ สร้างความเข้มแข็งชุมชนตรงจุด ต้องโปร่งใส ชี้ถ้าคิดแค่ฟังก์ชั่น ถ้าทำอะไรไม่บรรจบกัน ย่อมเกิดปัญหาตามา พร้อมวอนอย่าขัดแย้งกันเลย ต้องรับฟังกันยึดเสียงส่วนใหญ่

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 5 มกราคม 2561 ว่า ประเด็นที่อยากสร้างความเข้าใจให้มากขึ้นคือประเด็นบทบาทของท้องถิ่นและการใช้จ่ายงบประมาณของท้องถิ่น ในแต่ละปีงบประมาณท้องถิ่นจะประกอบด้วย รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บได้เอง เช่น ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ เป็นต้น แล้วแต่ละพื้นที่ต้องรับผิดชอบด้วยการเก็บภาษีเหล่านี้ และเงินภาษีที่รัฐจัดสรรให้ แบ่งให้ รวมถึงเงินอุดหนุนเพิ่มเติม เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถนำไปใช้บริหารจัดการและดำเนินการโครงการต่างๆ ตามความต้องการของชุมชน ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้อย่างตรงจุดด้วย

         สรุปง่ายๆก็คือเก็บเอง และรัฐบาลอุดหนุนเพิ่มเติมไป เพราะเก็บเองไม่เพียงพอ การกำหนดพื้นที่ที่มีปัญหาในวันนี้ก็คือเรื่ององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล ที่มีปัญหาอยู่ตอนนี้ ทำให้เกิดปัญหาการจัดเก็บรายได้ด้วย ถ้าคนน้อยเกินไป พื้นที่น้อยเกินไปก็เก็บเงินได้น้อย พอเก็บได้น้อย รัฐบาลให้เงินลงไปมันก็ไม่พอใช้อยู่ดี ต้องไปช่วยกันแก้ไปคิดเอาแล้วกัน ยังพูดอะไรไม่ได้ทั้งนั้นในตอนนี้ สำหรับงบฯอยากให้นำไปใช้ เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ การดูแลโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารของประเทศ หรือการก่อสร้าง พัฒนา ซ่อมแซมทางหลวงสายหลักที่เชื่อมจังหวัด หรือภูมิภาค เป็นต้น  ส่วนถนนสายรองๆ ลงไป ตามที่ได้รับการจัดสรรไปและต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยเฉพาะงบอุดหนุนเฉพาะกิจที่จะต้องระบุโครงการชัดเจน หากเหลือก็ต้องนำส่งคืนคลัง

         ส่วนเงินที่เหลือจ่ายจากงบประมาณที่อปท. ได้รับไว้ภายในวันสิ้นปี งบประมาณของทุกปี จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือร้อยละ 25 เก็บไว้เป็นเงินทุนสำรองเงินสะสมและอีกร้อยละ 75 ให้ถือเป็นเงินสะสมเพื่อให้อปท.มีฐานะการเงินการคลังที่มั่นคง พร้อมรับภาระและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในอนาคต ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ หรือนำไปจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง มีคุณภาพ เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

         อย่างไรก็ตามเงินสะสมก้อนนี้ สามารถนำออกมาใช้ได้ หลายคนก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมไม่นำออกมาใช้  ใช้ได้แต่ไม่ทั้งหมด ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและตามสัดส่วนที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยส่วนหนึ่งถูกกันไว้เพื่อสำรองเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร เงินรายจ่ายประจำที่ต้องจ่ายให้กับประชาชน เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเงินเบี้ยความพิการ หรือในกรณีเกิดสาธารณภัย เป็นต้น และเพื่อความโปร่งใสหากมีการนำเงินสะสมออกไปใช้ในโครงการต่างๆ อปท. จะต้องรายงานให้จังหวัดทราบ ซึ่งจังหวัดจะติดตามและรายงานผลการใช้เงินผ่านทางระบบ e-plan มาสู่ส่วนกลาง ให้สามารถตรวจสอบได้อีกด้วย

          ทั้งนี้แต่ละจังหวัดมีโครงสร้างและลักษณะของพื้นที่ต่างกัน การสร้างรายได้นั้นไม่เท่ากัน ทำให้โครงการและการดำเนินการของ อปท.ต่างกันไปด้วยดังนั้นจะเห็นว่าเงินสะสมบางจังหวัดอยู่ในระดับสูง บางจังหวัดก็มีไม่มากนัก จึงอาจเป็นข้อจำกัดด้านโครงสร้าง ที่เราต้องพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมในระยะต่อไปด้วย ทุกคนคงเห็นได้ว่ารัฐบาลนี้ให้ความ สำคัญกับการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เราถือเป็นการให้โอกาส เป็นช่องทางสำหรับพื้นที่และชุมชนในการพัฒนาตนเองให้ได้ตามความต้องการมากขึ้น สิ่งที่ตนอยากเห็น ก็คือท้องถิ่นต้องรู้ในศักยภาพของตนเอง อะไรคือสิ่งที่ได้เปรียบ อะไรคือจุดขาย หากเราต้องพัฒนาจุดนั้นให้ดียิ่งขึ้น ต้องเติมเต็มอย่างไร อปท. จะมาเติมเต็มในส่วนที่ประชาชนได้รับผลประโยชน์โดยตรงใกล้ๆตัวและต้องสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติด้วย อาทิ สร้างถนนใช้ยางพารา สร้างเครือข่ายถนนแบบใยแมงมุม ทำถนนสายรองเชื่อมโยงถนนสายหลัก

         หาก อปท. และส่วนภูมิภาค ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าใจในนโยบายเหล่านี้จะรู้ว่ารัฐบาลนี้ พยายามกระจายความเจริญ ไปสู่ทุกจังหวัด ลดปัญหา ลดภาระ ลดอันตรายต่างๆทั้งหมด ต้องคิดไปหลายกิจกรรมด้วยกัน เรียกว่าไม่ใช่คิดแต่งานฟังก์ชั่นอย่างเดียว สร้างถนนก็สร้างไป ทำอะไรก็ทำไป ของแต่ละกระทรวง ก็ไม่บรรจบกันทุกเรื่อง ก็เกิดปัญหามา ตามไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกด้วย เครือข่ายการคมนาคมต้องเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมดข้อสำคัญคือต้องมีรายรับที่เพียงพอในการใช้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเหล่านี้  จะทำให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ และไม่ใช่เพียงแก้ปัญหาจราจร ต้องลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของคนทั้งประเทศด้วย โดยไม่สร้างความขัดแย้ง

         นั่นคือความยากง่ายในการทำงาน ถ้าเราทำเหล่านี้ได้ทั้งหมด เราแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของคนไทยทั้งประเทศได้ ก็จะเกิดภาคภูมิใจในถิ่นเกิดของตน ไม่ต้องมาแสวงโชคในเมืองจนเกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย ทั้งปัญหายาเสพติด – อาชญากรรม ที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ โดยวิสัยทัศน์การพัฒนาท้องถิ่นแบบนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือกลไกประชารัฐ ซึ่งอย่าขัดแย้งกันเลย ต้องรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน เอาเสียงส่วนใหญ่ว่าต้องการอะไร ก็ต้องยอมกันบ้างแล้ววันหน้าสิ่งที่ส่วนน้อยเสนอมาอาจจะทำไม่ได้ในระยะแรก ก็ไปทำระยะสองระยะสามก็ว่าไป ต้องใช้กติกาตัวนี้ ไม่อย่างนั้นทำไม่ได้สักอันหนึ่ง

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 6 มกราคม 2561
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก