ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กรมสุขภาพจิตเผยผลวิจัย พบ“นวดไทย”ลดเกร็งกล้ามเนื้อขา คลายทุกข์เด็กป่วยโรคซีพี

วันที่ลงข่าว: 08/01/18

         กรมสุขภาพจิต ผลการศึกษาวิจัย พบภูมิปัญญานวดไทย มีสรรพคุณใช้ฟื้นฟูเด็กสมองพิการหรือโรคซีพีที่รักษาไม่หายขาด ใช้เสริมการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันได้ผลดี ลดอาการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อขาลงได้ถึงร้อยละ 41-77 สูงกว่าเด็กที่กินยาคลายเกร็งกล้ามเนื้ออย่างเดียว 2-5 เท่าตัว ข้อต่อต่างๆไม่ติด คลายทุกข์ใจทำให้เด็กหลับง่ายขึ้น ขณะนี้ถ่ายทอดให้ผู้ปกครองไปใช้ดูแลเด็กที่บ้าน เตรียมขยายผลศึกษาทางคลินิกตามมาตรฐานสากล และเพิ่มการวิจัยใช้ในกลุ่มเด็กออทิสติกกระตุ้นสมองหลั่งสารแห่งความสุข และกลุ่มเด็กดาวน์ กระตุ้นพัฒนาการกล้ามเนื้อด้วย

          นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า กรมสุขภาพจิตได้เปิดคลินิกแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ในสถานพยาบาลที่อยู่ในสังกัด 18 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้บริการผู้ป่วยจิตเวชทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ควบคู่กับการดูแลรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน พร้อมทั้งศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของการนวดต่างๆที่มีผลดีในการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชเพื่อขยายผลใช้ในสถานพยาบาลทั่วประเทศ เกิดประโยชน์สูงสุดในการเพิ่มคุณภาพบริการให้ผู้ป่วย ในส่วนของสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการเฉพาะทางด้านการดูแลรักษาเด็กที่มีปัญหาในเรื่องพัฒนาการ ต่อปีให้บริการประมาณ 48,000 รายเป็นเด็กสมองพิการหรือเรียกว่าเด็กซีพี (Cerebral Palsy: CP) ประมาณ ร้อยละ 5 เด็กกลุ่มนี้ร้อยละ 50-75จะมีปัญหานอนหลับยาก เนื่องจากกล้ามเนื้อขาหดเกร็งบ่อยๆซึ่งเกิดจากสมองส่วนที่เรียกว่ามอเตอร์ คอร์เท็กซ์ ( Motor cortex) ที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ถูกทำลาย ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุกตลอดเวลา มีปัญหาข้อต่อยึดติด ส่งผลให้ผู้ปกครองต้องอดนอนไปด้วย จึงให้สถาบันฯวิจัยภูมิปัญญาการนวดไทยในการลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อในเด็กที่สมองพิการ ในปี 2559 -2560 

          ทั้งนี้ ผลการวิจัยพบว่า การนวดแผนไทยร่วมกับการรักษาด้วยยาคลายกล้ามเนื้อเกร็งสามารถลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อขาทั้ง 2 ข้างของเด็กซีพีลงได้ถึงร้อยละ 41-77 ให้ผลสูงกว่าเด็กซีพีที่รักษาด้วยยาคลายกล้ามเนื้อเกร็งอย่างเดียว 2- 5 เท่าตัว เด็กหลับได้ง่ายขึ้นเอื้อต่อประสิทธิภาพการดูแลดีขึ้น และไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ ในเบื้องต้นนี้ได้เน้นขยายผลใช้ในกลุ่มผู้ปกครองเด็กก่อน เพื่อใช้ดูแลเด็กที่บ้านได้ ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดจากการนอนหลับๆตื่นๆเพราะต้องดูแลลูก และได้มอบนโยบายให้ศึกษาวิจัยการนวดไทยกับเด็กป่วยอีก 2 โรค คือโรคออทิสติก( Autistic) ซึ่งมีปัญหาหลักสื่อสารความรู้สึกตัวเองไม่ได้ เพื่อกระตุ้นการรับรู้ของสมองให้มีการสร้างสารสื่อประสาทที่ทำให้มีความสุขที่เรียกว่าสารเอนดรอฟิน( Endorphin) ช่วยในการควบคุมพฤติกรรมดีขึ้น และเด็กกลุ่มอาการดาวน์ ( Down syndrome ) เพื่อกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการกล้ามเนื้อดีขึ้นด้วย 

          ด้านแพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าในการวิจัยการนวดไทยเพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อของเด็กป่วยโรคซีพีครั้งนี้ สถาบันฯโดยศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ศึกษาในกลุ่มเด็กซีพี 46 คน อายุ 2-6 ปี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่นวดและกินยาลดเกร็งกล้ามเนื้อด้วย 22 คน และกลุ่มที่กินยารักษาอย่างเดียว 24 คน โดยได้พัฒนานวดแบบกดจุดตามมาตรฐานวิชาการมีทั้งหมด 15 ท่า แตกต่างกันตามความรุนแรงโรคและตามอายุ การนวดจะใช้นิ้วหัวแม่มือกดนวดเฉพาะที่บริเวณกล้ามเนื้อเท่านั้นจุดละ10วินาที โดยที่กล้ามเนื้อต้นขาและน่อง นวดข้อนิ้วเท้าทุกข้อทั้ง2 ข้าง นวดหลังทั้งท่านอนตะแคงและท่านั่งนวดบ่า นวดแขน นวดท้อง นวดที่ใบหน้า บริเวณคิ้ว ใต้คาง ริมฝีปากบนและล่างเหมือนลักษณะการยิ้ม จากนั้นจึงใช้เครื่องมือมาตรฐานวัดการความแข็งเกร็งกล้ามเนื้อก่อนและหลังทดลองทั้ง 2กลุ่ม 

          ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มเด็กที่ได้รับการนวดไทย 22คน มีระดับการเกร็งกล้ามเนื้อขาโดยรวมลดลงร้อยละ 41 ขณะที่กลุ่มรักษาด้วยยาอย่างเดียวลดลงร้อยละ 8.3 ลดอาการเกร็งที่กล้ามเนื้อหน้าขา(Quadriceps muscle) ลงได้ร้อยละ 55 ลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อน่องขา ( Soleus muscle ) ลงได้ร้อยละ 77 และลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อขาส่วนหลัง ( Hamstring muscle) ลงได้ร้อยละ 32 ขณะที่เด็กกลุ่ม 24 คน ที่กินยาอย่างเดียวให้ผลคลายกล้ามเนื้อที่หน้าขา น่องขา และกล้ามเนื้อขาด้านหลังร้อยละ 21 , 8.3 และ8.3 เท่านั้น โดยในปีนี้สถาบันฯได้ขยายผลการวิจัยในกลุ่มเด็กโรคนี้ในขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อสามารถยืนยันทางวิชาการในระดับสากลต่อไป 

         แพทย์หญิงดุษฎี กล่าวต่อว่า เทคนิคสำคัญของการนวดทั้ง 15 ท่าในเด็ก ต้องนวดแบบนุ่มนวล ไม่มีการดัดดึงเหมือนการนวดในผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กตกใจ จะช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวข้อต่อ ข้อต่างๆไม่ติด ลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อ กระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดและระบบน้ำเหลืองในร่างกาย กระตุ้นระบบประสาทสมองที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อภายนอกร่างกายให้ทำงานดีขึ้น ช่วยไล่ลมและลดอาการท้องอืด กระตุ้นการขับถ่าย แก้ท้องผูก เด็กจะรู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์ดี ช่วยสร้างความผูกพันในครอบครัวได้ด้วย หากผู้ปกครองที่มีลูกเป็นโรคซีพีหรือมีผู้ใหญ่ที่พิการจากโรคซีพี และต้องการรับบริการนวดเพื่อลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อ สามารถโทรขอรับคำปรึกษาได้ที่หมายเลข 053-908300 ต่อ 73187 โดยคลินิกแพทย์แผนไทย เปิดให้บริการจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 8.30-19.30 น. และวันเสาร์เปิด 9.00-17.00 น. 

          ทั้งนี้โรคซี.พี.เป็นความพิการของสมองอย่างถาวรสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อขณะแม่ตั้งครรภ์เช่นหัดเยอรมัน ซิฟิลิส แม่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าจัด สมองขาดอ๊อกซิเจนระหว่างคลอด หรือน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานคือ 2,500กรัม ปัจจุบันพบได้ 1-3 คนต่อเด็กทารก1,000 คน หรือปีละประมาณ 2,000 คน เด็กจะมีร่างกายการเคลื่อนไหวและการทรงท่าที่ผิดปกติ เช่น มีการเกร็งของใบหน้า ลิ้น ลำตัว แขน ขา การทรงตัวในขณะนั่งยืน เดิน ผิดปกติหรืออาจเดินไม่ได้ โรคนี้รักษาไม่หายขาด ใช้วิธีรักษาประคับประคองตามอาการและความรุนแรง เด็กซีพีถ้าเป็นตั้งแต่แรกเกิดจะสังเกตได้จากการมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อไม่เหมือนเด็กปกติเช่น คอไม่แข็งนั่งหรือยืนได้ช้ากว่าปกติ ถ้ามีสมองพิการภายหลังคลอด อาจจะมีพัฒนาการที่ถดถอยจากเดิมเช่น เคยยืน วิ่งเล่น พูดคุยได้ ก็จะไม่สามารถทำได้เป็นต้น

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 7 มกราคม 2561
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก