ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

วันที่ลงข่าว: 18/12/17

บทความประจำวัน วันนี้เสนอเรื่อง รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

          รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 โดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล มอบรางวัลให้แก่บุคคล หรือองค์กรทั่วโลก ที่มีผลงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขดีเด่น เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ เป็นประจำทุกปีตลอดมา

          สำหรับปี 2560 มีผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งสิ้น 45 ราย จาก 27 ประเทศ ซึ่งผู้ได้รับการตัดสินเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (ครั้งที่ 26) ในสาขาการการแพทย์ คือ โครงการจีโนมมนุษย์ หรือ The Human Genome Project จากประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนสาขาการสาธารณสุข คือ ศ.พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์ (Prof. Porter W. Anderson, Jr.) นพ.จอห์น บี รอบบินส์ (Dr. John B. Robbins) พญ.ราเชล ชเนียสัน (Dr. Rachel Schneerson) และ ศ.นพ.มธุราม ซานโตชาม (Prof. Mathuram Santosham) จากประเทศสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกัน

          ทั้งนี้ในส่วนของโครงการจีโนมมนุษย์ จากสถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์ ในสังกัดสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ มีภารกิจสำคัญในการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมดของมนุษย์ เป็นองค์ความรู้ช่วยให้เข้าใจกลไกการทำงานของเซลล์และอวัยวะต่างๆ ตลอดถึงกลไกการกลายพันธุ์ การเกิดโรค และโรคทางพันธุกรรมต่างๆ อันเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ ทั้งเพื่อควบคุมป้องกัน ตลอดทั้งพัฒนายารักษาโรคที่มีความแม่นยำ เหมาะสมสำหรับปัจเจกบุคคล ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

          ขณะที่สาขาการสาธารณสุข นักวิจัย 4 บุคคลดังกล่าว ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลไกก่อโรค และการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ ฮีโมฟีลุส อินฟลูเอนเซ ชนิดบี หรือเรียกสั้นๆ ว่า ฮิบ (Haemophilus influenzae type b หรือ Hib) ซึ่งเป็นแบคทีเรียสำคัญที่ก่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่าห้าปี โรคดังกล่าวมีอัตราตายสูง หากรอดชีวิตอาจเกิดความพิการอย่างถาวรได้

          วัคซีนฮิบ ได้รับการผลิตและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ชนิดชนิดโพลีแซคคาไรด์ มาจนถึง วัคซีนฮิบชนิดคอนจูเกต ซึ่งเป็นวัคซีนมาตรฐานในปัจจุบัน ช่วยให้อัตราการเกิดโรคและการตายจากเชื้อฮิบในเด็กเล็ก ลดลงกว่าร้อยละ 95-99 และป้องกันการเกิดโรคในเด็กได้กว่า 100 ล้านคนทั่วโลก เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างมหาศาล

          สามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความประจำวันดังกล่าว ได้ที่ ส่วนสื่อข่าวและผลิตรายการข่าว สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2275 5193

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก