ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นักวิชาการสะท้อนแนวคิดรัฐสวัสดิการจะช่วยให้ประชาชนได้รับการดูแลและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างยั่งยืนกว่าการขับเคลื่อนประเทศด้วยแนวทางทุนนิยมเสรีนิยม

วันที่ลงข่าว: 12/12/17

          ในงานเสวนาวิชาการเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดขึ้นโดย Third Way Thailand พรรคใต้เตียง มธ. และคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ในหัวข้อ " รัฐธรรมนูญ รัฐสวสัดิการ" ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย ผศ. ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นางแสงศิริ ตรีมรรคา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, และ รศ. ดร. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยผู่ร่วมเสวนาต่างชี้ข้อมูลให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม และสะท้อนแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นวิธีการที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างแท้จริง

          ผศ. ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า การบริหารและพัฒนาประเทศด้วยทุนนิยมเสรีนิยมจะทำให้เกิดประชาชนสูญเสียตัวตน ต้องรับผิดชอบตนเอง เกิดการแข่งขันสูง เสรีภาพไร้ความหมาย และเกิดสังคมแห่งการถวิลหาและเปราะบาง ซึ่งการสร้างสังคมที่ลดความเหลื่อมล้ำและเกิดความยั่งยืนได้ต้องใช้การบริหารแบบรัฐสวัสดิการโดยจะเกิดขึ้นได้บนฐานการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะจะส่งผลให้ทุกคนเสียงหรือทุกความต้องการของประชาชนมีความหมาย ได้รับการดูแลและการพัฒนาที่เหมาะสมตามแนวทางของแต่ละคน เช่นนี้ทุกคนจะอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างอย่างหลากหลายได้

          ขณะที่นางแสงศิริ กล่าวว่า รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ภายใต้ระบบการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส ซึ่งจะทำให้ประชาชนกว่า 60 ล้านคนเข้าถึงระบบสาธารณสุข แต่ปัจจุบันยังพบว่าสวัสดิการของรัฐนั้นเป็น 2 มาตรฐานและมีความเหลื่อมล้ำ โดยรัฐยังต้องดูแลข้าราชการบำนาญ 6-7 แสนคนด้วยงบประมาณกว่า 200,000 ล้านบาท ในขณะที่ผู้สูงอายุทั่วไปกว่า 8 ล้านคน รัฐจัดสรรงบประมาณค่าเบี้ยยังชีพเพียง 64,770 ล้านบาท อีกทั้งสวัสดิการของรัฐมักจะมาพร้อมกับนโยบายทางการเมืองที่ไม่มั่นคงแน่นอน ดังนั้นรัฐจะต้องจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชน 3 ด้าน คือ สุขภาพ การศึกษา และรายได้ โดยทำประชาพิจารณ์สอบถาใความต้องการของประชาชน

          ส่วนนายจาตุรนต์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันส่วนใหญ่ยังไม่ส่งเสริมระบบรัฐสวัสดิการที่แท้จริง อย่างเช่นกรณี นโยบายเรียนฟรี 12 ปี ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ฟรีอย่างแท้จริง และเงินงบประมาณอุดหนุนรายหัวให้แก่โรงเรียนต่างๆ ก็ไม่เพียงพอ เพราะงบประมาณของกระทรวงศึกษาส่วนใหญ่เป็นค่าจ้างครู ส่วนตัวเห็นว่ารัฐไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้แก่คนในพื้นที่ที่เสียเปรียบอย่างแท้จริง ซึ่งเงินส่วนใหญ่ถูกดึงไปช่วยโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง ขณะที่งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการมีมากที่สุดแต่ระบบการบริหารยังไม่ดีพอ

          ด้าน รศ. ดร. พิชิต กล่าวว่า การสร้างรัฐสวัสดิการไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการแบบดูแลตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต คือ เป็นประเทศที่ประชาชนให้ความไว้วางใจรัฐบาลอย่างสูง รัฐโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการเก็บภาษีที่สูงมากเพื่อนำมาเป็นสวัสดิการแก่ประชาชนทั้งประเทศ และประชาชนยินยอมที่จะจ่าย ในขณะที่รัฐที่มีสวัสดิการทั่วไปจะเน้นดูแลประชาชนโดยให้งบประมาณแก่สถาบันการศึกษา และให้แก่ประชาชนโดยตรง กรณีว่างงาน เจ็บป่วย คนพิการ คนชรา เด็กเล็ก และทหารผ่านศึก ซึ่งหลายประเทศที่เคยเป็นรัฐสวัสดิการแบบดูแลทั้งชีวิตหลายแห่งเกิดปัญหารัฐรับภาระค่าใช้จ่ายหนักจนเกิดไปจนต้องลดสวัสดิการบางประเภท ขณะที่ไทยรัฐสวัสดิการส่วนใหญ่มาพร้อมกับนโยบายทางการเมือง ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืน

          ทั้งนี้ก่อนร่วมการเสวนา มีการฉายสารคดีเรื่อง Where to invade next ในประเด็นรัฐสวัสดิการของต่างประเทศ เช่น การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายของสโลวีเนีย, การเสริมสร้างระบบการศึกษาโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของฟินแลนด์ และระบบการทำอย่างที่พอดี ไม่หนักจนเกินไป ให้ค่าแรงและวันพักผ่อนที่เหมาะสม รวมถึงจัดสถานที่ทำงานที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานของเยอรมัน

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก