ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เด็กพิการเรียนไหนดี

วันที่ลงข่าว: 29/11/17

            หลายครั้งที่พ่อ แม่ หรือเด็กพิการอาจเกิดความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาว่าตัวเขาจะไปทางไหนดี มีโรงเรียน มหาวิทยาลัยไหนรองรับหรือเข้าศึกษาต่อได้บ้าง จึงทำให้เกิดงานมหกรรมการแนะแนวการศึกษาต่อสำหรับเด็กพิการขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.2560 ที่ห้องประชุม 201 อาคารศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีมหาวิทยาลัยชั้นนำเข้าร่วม เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ

            ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล หรือต่อ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท กล่องดินสอ จำกัด กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า เรามองเห็นว่าเด็กพิการมีความต้องการที่อยากจะเรียนต่อมากขึ้นในระดับมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เริ่มเปิดรับคนพิการมากขึ้น แต่ข้อมูลตรงนี้ยังไม่แพร่หลายมากเท่าไหร่ เราจึงอยากเป็นสื่อกลางในการช่วยเด็กพิการให้ได้รับรู้ถึงข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องมหาวิทยาลัย และเพื่อให้มหาวิทยาลัยรู้ว่าเด็กก็อยากที่จะเข้าไปเรียนเหมือนกัน เราจึงสร้างเพจ “เด็กพิการเรียนไหนดี”ในนั้นก็จะมีข้อมูลต่างๆ ทั้ง ข้อมูลคณะที่เปิดโควต้าคนพิการ วิธีสอบสอบอย่างไร สอบเมื่อไหร่ รับคนพิการประเภทไหนบ้าง และก็มีรุ่นพี่มาแชร์ประสบการณ์ต่างๆ แต่ในงานการศึกษาทั่วไป ที่เกี่ยวกับการศึกษาต่อต่างๆ มหาวิทยาลัยที่มาออกบูธเขาไม่รู้ว่ามหาวิทยาลัยของเขานั้นเปิดรับนักศึกษาพิการรึเปล่า น้องที่ไปงานก็เลยได้ข้อมูลน้อยเพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมตัวมา พอเป็นอย่างนั้นเราเลยคิดว่า ควรมีมหกรรมของตัวเองบ้างนะที่เป็นเฉพาะของเด็กพิการอย่างเดียวเลยเราจึงจัดงานนี้ขึ้นมาร่วมกับ Eduzone และ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เพื่อให้เด็กพิการได้ค้นหาตัวเอง วางแผนการเรียนในสาขาที่เหมาะสม เรียนรู้เส้นทางการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ทั้งในสถาบันอุดมศึกษาระบบปิดและเปิด เรียนรู้เทคนิคการสอบและการเรียนในมหาวิทยาลัย รวมถึงเส้นทางในการประกอบอาชีพในอนาคตด้วย ซึ่งเราหวังว่า งานนี้จะเป็นการจุดประกายว่า ยังมีนักเรียนกลุ่มนี้ที่อยากจะเรียนต่อ ซึ่งมหาวิทยาลัยเองก็ควรที่จะเปิดโอกาสให้ด้วย

          ฉัตรชัยกล่าวต่อว่า คนที่มางานนี้ส่วนใหญ่จะเป็นน้องๆ มัธยมปลายจาก 23 โรงเรียน รวมถึงน้องที่มากับผู้ปกครองด้วย มหาวิทยาลัยที่มาในงานครั้งนี้ก็มีทั้งหมด 8 แห่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการรองรับนักศึกษาพิการ มีศูนย์บริการนักศึกษาพิการหรือที่เรียกว่า (Disability Support Services- DSS) ในการจัดงานครั้งนี้ถือว่าผลตอบรับดีมาก ตอนแรกคิดว่ามีน้องมาเข้าร่วมสัก 50 คนก็ดีแล้ว แต่ในงานมาจริงๆ 200 กว่าคน รวมทั้งโรงเรียนก็ให้ความสนใจ ซึ่งต่อไปก็อาจจะมีการจัดแนะแนวการศึกษาต่อตามต่างจังหวัดด้วย

นอกจากบูธแนะแนวแล้ว กิจกรรมภายในงานยังมีการทำความรู้จักระบบ TCAS 2561 โดยแฮนด์ ธารา อิสสระ ผู้วิเคราะห์คะแนนแอดมิชชัน และบรรณาธิการข่าวรับตรงและแอดมิชชันจากเว็บไซต์ Eduzone (www.eduzones.com) ร่วมติวและให้เทคนิคเตรียมสอบ GAT นอกจากนี้วาเลนไทน์ อินทิยศ ก็ยังร่วมให้เทคนิคการสอบสัมภาษณ์และการทำพอร์ทโฟลิโอ และมีการแชร์ประสบการณ์การเรียนจากรุ่นพี่คนพิการด้วย

           ปณิธิ เลิศวศินกุล และศรัล สุวรรณแสง เจ้าหน้าที่บริการการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ข้อมูลว่า สวัสดิการที่มีให้นักศึกษาพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการคือทุนค่าเทอมจาก สกอ.หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มีหอพักให้เช่นเดียวกับนิสิตคนอื่นๆ ซึ่งนักศึกษาพิการสามารถพาผู้ดูแลเข้ามาอยู่ในหอพักได้เป็นกรณีพิเศษ สามารถเข้าศึกษาได้ทุกคณะ ในระบบเดียวกันกับนักศึกษาคนอื่นเพราะตอนนี้ยังไม่มีโควตาโครงการพิเศษสำหรับคนพิการโดยตรง คาดว่าอีก 1-2 ปีอาจมีโครงการรับคนพิการเข้ามาเรียน ทั้งนี้ต้องรอคณะกรรมการระบุอีกครั้งหนึ่ง ในการวัดผลการเรียนนั้นเหมือนคนอื่นทั่วไป แต่หากเป็นคนพิการทางสายตาจะมีหน่วยงานบริการนักศึกษาพิการให้ด้วย ทางตัวนักศึกษา หรือคณะสามารถติดต่อเข้ามาเพื่อขอความช่วยเหลือได้เลย เช่น เรื่องการแปลเอกสารให้เป็นอักษรเบรลล์เพื่อใช้ในการสอบ 

         เจ้าหน้าที่จากจุฬากล่าวว่า ตอนนี้ยังมีนักศึกษาที่เป็นคนพิการไม่เยอะเราจึงช่วยได้แค่บางคน และนักศึกษาพิการที่เข้ามาเรียนส่วนใหญ่จะมีศักยภาพในการเรียนสูงกว่าคนทั่วไปเพราะฉะนั้นจึงไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องของการเรียน แต่ในบางเรื่องที่เขารู้สึกลำบากก็อาจจะมาขอให้เราช่วย ซึ่งเราก็ช่วยได้เต็มที่ ส่วนมากที่มาขอความช่วยเหลือคือเรื่องการแปลงเอกสารให้ เช่น ทำหนังสือเสียง อักษรเบรลล์ หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกทางร่างกายต่างๆ

ด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีศูนย์บริการนักศึกษาพิการเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังมีโครงการโควตาสำหรับนักศึกษาพิการอีกด้วย   

         ปิยพงศ์ เอียดปุ่ม นักวิชาการการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีโครงการสำหรับคนพิการที่จะเข้ามาเรียนที่นี่ เพื่อให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน โครงการนี้ก็เริ่มมาตั้งแต่ปี 2546 และเนื่องจากช่วงปี 2546 ยังไม่มีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือนักศึกษากลุ่มนี้ จึงทำให้ผลการเรียนนั้นค่อนข้างต่ำกว่าเกณฑ์ ต่อมาในปี 2548 อธิการบดีมีนโยบายจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อดูแลและสนับสนุนนักศึกษาพิการ คือศูนย์บริการนักศึกษาพิการ ซึ่งทำหน้าที่ตั้งแต่แนะแนวนักศึกษา เปิดรับคณะไหนบ้าง เรียนเกี่ยวกับอะไร รับนักศึกษาพิการด้านไหนบ้าง เข้ามาเรียนแล้วจะได้อะไร หลังจากที่แนะแนวไปแล้วก็จะมีการจัดสรรโควตา เพื่อกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขในการรับเข้าของแต่ละคณะ ซึ่งในการสอบนั้นไม่ได้สอบรวมกับเด็กคนอื่นๆ แต่จะสอบแค่เฉพาะเด็กพิการด้วยกัน เรียกว่าข้อสอบ Z จะมี 3 หมวดคือ จำนวน ภาษา และการใช้เหตุผล แม้ช่องทางในการเข้ามาเรียนมันอาจจะดูง่ายก็จริง แต่เวลาเข้ามาเรียนก็จะเป็นไปตามมาตรฐานของธรรมศาสตร์ เวลาสอบวัดผลต่างๆ ก็จะใช้ข้อสอบชุดเดียวกันกับนักศึกษาทั่วไป ธรรมศาสตร์รับนักศึกษาพิการทั้งหมด 3 ประเภท คือ ทางการมองเห็น ทางการเคลื่อนไหว ทางการได้ยินเฉพาะหูตึง เนื่องจากเราไม่มีล่าม 

         เมื่อนักศึกษาพิการเข้ามาเรียนแล้วก็จะมีการพาทัวร์มหาวิทยาลัย สอนใช้คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีให้ พาทัวร์เส้นทางการเดินทางในอาคารสถานที่หลักๆ และมีหอพักซึ่งจัดให้เอาไว้ให้โดยไม่ต้องไปแย่งกับนักศึกษาคนอื่น ถ้าหากมีผู้ดูแลหรือบัดดี้ก็สามารถเข้าไปอยู่ได้ด้วย มีการการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนทางการศึกษาให้กับนักศึกษาพิการทุกคน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ เช่น นักศึกษาตาบอดหรือตาเลือนลาง ก็มีเครื่องบันทึกเสียง มีโน๊ตบุ๊ก หนังสือเสียง หนังสืออักษรเบรลล์ นอกจากนี้ ยังมีการให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาพิการด้วย ทั้งเรื่องการใช้ชีวิตและการเรียน ที่นี่อยู่กันแบบครอบครัวนักศึกษามีปัญหาสามารถเดินเข้ามาขอคำปรึกษาได้เลย ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะวางแผนหรือให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาได้ตลอด หากต้องการหางานทั้งงานประจำและพาร์ทไทม์ ก็มีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้เสมอ ทั้งในโซเชียลและทางตรง

         นอกจากจุฬาและธรรมศาสตร์แล้ว ยังมีมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาและหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้าร่วมอีกด้วย เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ วิทยาลัยดอนบอสโก มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปดูได้ที่เฟซบุ๊ก เด็กพิการเรียนไหนดี หรือโทร 086-0695652

ที่มาของข่าว https://thisable.me/content/2017/11/338
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก