ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

พม. รับข้อเสนอจากกลุ่มเครือข่ายสลัม 4 ภาค กว่า 2,000 คน เพื่อเรียกร้องรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมืองอย่างมั่นคงและยั่งยืน

วันที่ลงข่าว: 07/11/17

         วันที่ 6 พ.ย.60  เวลา 11.00 น. นายณรงค์ คงคำ โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)ได้มอบหมายให้นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นผู้แทนรับข้อเสนอจากกลุ่มเครือข่ายสลัม 4 ภาค จำนวนประมาณ 2,000 คน ซึ่งนำโดย นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ณ บริเวณด้านหน้าองค์การสหประชาชาติ (United Nations (UN)) ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ

 

        นายพุฒิพัฒน์ กล่าวว่า ตามที่องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก (Word Habitat Day) เพื่อให้สังคมโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมวลมนุษยชาติ ทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งเป็นองค์กรประสานงานของคนจนเมืองที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด รวมทั้งคนเร่ร่อนไร้บ้านทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ และเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตคนจนเมือง จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกมาตั้งแต่ปี 2544 โดยในปี 2560 ได้กำหนดจัดขบวนเดินรณรงค์ในวันนี้ (6 พ.ย. 2560) พร้อมรับฟังการแถลงนโยบายและมาตรการแก้ปัญหาคนจนของรัฐบาลในด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน อีกทั้งได้จัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาล เพื่อให้คนจนได้มีหลักประกันในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 2 เรื่องสำคัญ 1) ด้านที่อยู่อาศัย และ 2) การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง

 

        นายพุฒิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเสนอของกลุ่มเครือข่ายสลัม 4 ภาค ในเรื่องที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย1) รัฐบาลต้องสนับสนุนที่ดินของรัฐนำมาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง เช่น การนำที่ดินสาธารณะมาแบ่งให้ชุมชนเช่าเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว 2) รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณและกระบวนการในการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยตามนโยบายโครงการบ้านมั่นคงที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง 3) การตั้งกลไกแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยตามหน่วยงานที่กำกับดูแลตามนโยบาย เช่น กระทรวงคมนาคม หรือ กระทรวง พม. โดยมีรัฐมนตรีประจำกระทรวงเป็นประธานแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวชุมชน 4) การแก้ไข ยกเลิก งดเว้นกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยและวิถีความเป็นอยู่ของชุมชนเมือง และ 5) การผ่อนปรน งดเว้นกฎหมายต่างๆ ที่ส่งผลต่อการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ของคนจนเมืองในพื้นที่ขนาดเล็ก เป็นต้น

 

        ส่วนเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง ประกอบด้วย 1) รัฐบาลต้องสร้างสวัสดิการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง 2) การสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้เข้าถึงระบบรักษาพยาบาลได้ 3) ระบบหลักประกันสุขภาพต้องให้สิทธิการรักษาพยาบาลครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยังไม่สามารถรักษาพยาบาลได้ และ 4) รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุโดยผลักดันให้มีนโยบายบำนาญแห่งชาติ

 

        “อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยนั้น รัฐบาล โดยกระทรวง พม. ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) เพื่อให้ประชาชนทุกคนต้องมีบ้านมีที่อยู่อาศัยอย่างถ้วนทั่ว โดยมีศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงาน และสำหรับเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมต่างๆ สำหรับประชาชนอย่างเท่าเทียม ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง และผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้ ตนพร้อมนำข้อเสนอต่างๆของกลุ่มเครือข่ายสลัม 4 ภาค ไปเสนอต่อพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เพื่อพิจารณา และแจ้งผลไปยังกลุ่มเครือข่ายสลัม 4 ภาค ต่อไป” นายพุฒิพัฒน์กล่าวในตอนท้าย

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก