ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า : บัณฑิต-นิสิตจากรั้วจุฬาฯ สร้างของเล่นเพื่อเด็กพิการ

วันที่ลงข่าว: 02/11/17
ของเล่นตอบโต้อัตโนมัติ 3 มิติ
 
         3 หนุ่มสาว พี น.ส.ภาดา โพธิ์สอาด จบการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์, ปาล์ม นายวสุพล แหวกวารี นิสิตปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ และ พีช น.ส.พัชณาพร วิมลสาระวงค์ นิสิตปี 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมตัวกันคิดออกแบบของเล่นที่มอบประสบการณ์การเรียนรู้ให้เด็กที่พิการทางสายตา ในผลงานชื่อว่า “Time for Tales” (ของเล่นตอบโต้อัตโนมัติ 3 มิติ)
 
        พี ภาดา กล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้มีแรงบันดาลใจจากการทำ Thesis ก่อนจบ และเลือกลงไปสำรวจข้อมูลปัญหาสำหรับเด็กผู้พิการทางสายตา พบว่าของเล่นที่ช่วยเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของน้องๆ กลุ่มนี้มีอยู่อย่างจำกัด จึงอยากพัฒนาของเล่นสักชิ้นที่ช่วยเรื่องพัฒนาการของเด็กพิการทางสายตาให้มากที่สุด จึงเข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ปี 5 ดำเนินงานโดยเนคเทค สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาผลงานต่อ
 
        เพื่อให้ผลงานชิ้นนี้น่าสนใจขึ้น น้องพีจึงชวนรุ่นน้องอีกสองคนมาร่วมกันออกแบบผลงานชิ้นนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก่อนเล่าต่อว่าผลงานที่ทำเป็นของเล่นโต้ตอบอัตโนมัติรูปแบบใหม่สำหรับเด็กพิการทางสายตาวัยอนุบาลอายุ 4-9 ขวบ เป็นของเล่น Multisensory ที่ใช้เสียงและผิวสัมผัสในการส่งเสริมพัฒนาการ จินตนาการ และความรู้พื้นฐานอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเด็กพิการทางสายตาสามารถสัมผัสและเรียนรู้ในสิ่งที่เขาไม่สามารถจับต้องได้ในชีวิตประจำวัน 
 
        ความพิเศษอยู่ที่การออกแบบให้สามารถยกเข้าออก ถอดประกอบหรือเปลี่ยนไปตามเรื่องราวนั้นๆ กลายเป็นของเล่นรูปแบบใหม่ที่นำทักษะการสัมผัสและการฟังมาไว้ในชิ้นเดียว ทำให้เด็กตาบอดสามารถเล่นของเล่นชิ้นนี้ได้ไปพร้อมกับฝึกการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก และใช้จินตนาการในการเรียนรู้
 
       “ผลงานชิ้นนี้แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเรียกว่า base คือ เป็นฐานมีทั้งหมด 4 ดินแดน แต่ละดินแดนจะมี texture ต่างกัน เช่น ดินแดนปราสาท ทะเลสาบ หมู่บ้าน และป่าไม้ ส่วนที่สองเป็นคาแร็กเตอร์ตัวละครต่างๆ ที่ให้เด็กพิการทางสายตาสัมผัสได้ เช่น เจ้าหญิง เป็ดน้อย เด็กชาย หมาป่า วิธีเล่นคือเด็กๆ จะจับที่ตัวละคร แล้วเอาไปวางบนหลุมในฐาน ซึ่งแต่ละฐานจะมีตัวหลุมวงกลมเป็นทรงกระบอกเพื่อนำตัวละครใส่ลงไป จากนั้นจะมีเสียงที่ตัวละครบรรยายถึงสถานที่ต่างๆ ทั้งหมดสี่ดินแดน” ปาล์มเล่า
 
       ด้าน พีช น้องเล็กของกลุ่ม กล่าวว่ากว่าจะออกมาเป็นผลงานชิ้นนี้ พวกเรานำผลงานไปทดสอบที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ประมาณ 4-5 ครั้ง มีฟีดแบ็กทั้งดีและไม่ดีกลับมาให้พัฒนาผลงานต่อ แต่ทุกครั้งที่เราไปจะเห็นน้องๆ เขาเล่นอย่างมีความสุข กลายเป็นว่าของเล่นชิ้นหนึ่งสามารถสร้างการเรียนรู้ให้น้องๆ อีกหลายคน ทำให้รู้สึกว่าเรามีคุณค่าที่ได้ทำประโยชน์ให้สังคม
 
       ผลงาน “Time for Tales” ได้รับรางวัลชมเชยและเบสต์พรีเซนต์ ประเภทผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Design Category) จากการประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุของนักศึกษาในระดับ นานาชาติ รวม 8 ประเทศ 32 ผลงาน ในเวที ICREATE 2017 ที่ประเทศญี่ปุ่น และล่าสุดได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมสะอาด ในโครงการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 17
 
        “ตอนนี้พวกเรากำลังระดมทุนเพื่อนำของเล่นชิ้นนี้ไปบริจาคให้หน่วยงานที่ต้องการ และได้มองเว็บเทใจที่เป็นเว็บทำ crowdfunding เพื่อวางแผนทำ CSR โดยเข้าไปคุยกับบริษัทต่างๆ แต่ยังอยู่ในขั้นสำรวจหาข้อมูล สุดท้ายปลายทางอยากเห็นผลงานชิ้นนี้เป็นของเล่นที่เด็กปกติและพิการทางสายตาเล่นร่วมกันได้” น้องพีกล่าวทิ้งท้าย

ของเล่น Multisensory ที่ใช้เสียงและผิวสัมผัสในการส่งเสริมพัฒนาการ จินตนาการ
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181