ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นายแพทย์สาธารณสุขพิษณุโลกแนะผู้ปกครองเด็ก ผู้จัดงานลอยกระทง ไม่ประมาท ป้องกันอันตรายจากประทัดและการจมน้ำ

วันที่ลงข่าว: 31/10/17

        นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า วันลอยกระทงในปี 2560 นี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีการจัดกิจกรรมตามประเพณีและมีประชาชนจำนวนมากร่วมงานดังกล่าว ซึ่งทุกๆ ปี จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆ โดยเฉพาะการบาดเจ็บจากการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงและความพิการ นอกจากนี้ยังต้องระวังอุบัติเหตุจากการจมน้ำที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีในจังหวัดพิษณุโลก

 

         สำหรับคำแนะนำ คือไม่ควรเล่นผาดโผน ใกล้วัตถุไวไฟ หรือบ้านเรือน ไม่เก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ไว้ในกระเป๋าเสื้อ/กางเกง หรือที่มีอากาศร้อน แสงแดดส่อง เพราะทำให้เกิดการเสียดสีและระเบิดได้ การเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ของเด็กจะต้องอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด ห้ามพยายามจุดดอกไม้ไฟ หรือพลุที่จุดแล้วไม่ติดหรือไม่ระเบิดอย่างเด็ดขาดและควรเตรียมถังน้ำไว้ 1 ถัง ใกล้ตัวเสมอเวลาเล่น เพื่อใช้ดับเพลิง

 

         ส่วนปัญหาที่สำคัญ การจมน้ำ เพราะเทศกาลลอยกระทงทุกปี เด็กจะมีความเสี่ยงจมน้ำมากขึ้น เพราะเด็กมักจะอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพื่อลอยกระทง ทำให้เสี่ยงที่จะลื่นและพลัดตกได้ เหตุการณ์ที่มักพบเห็นกันบ่อยๆ คือ การลงไปเก็บเงินในกระทง ในขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีการดื่มสุราร่วมด้วย จากข้อมูลช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2549 - 2558) ช่วงเทศกาลลอยกระทง 3 วัน คือ ก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทง คำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง คือ ควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา และเพิ่มความระมัดระวังเมื่อนำเด็กเข้าใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นและเข้าถึง ที่สำคัญ ไม่ปล่อยให้เด็กไปลอยกระทงกันเองตามลำพัง แม้จะอยู่บนฝั่ง เพราะอาจพลัดตกหรือลื่นได้ และไม่ควรให้เด็กลงเก็บกระทง หรือเก็บเงินในกระทงเด็ดขาด เพราะเด็กอาจจมน้ำและเสียชีวิตได้ เนื่องจากเป็นตะคริวเพราะอยู่ในน้ำเป็นนานและอากาศหนาวเย็นด้วย ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และลงน้ำ หากมีการโดยสารเรือให้สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งทั้งผู้ใหญ่และเด็ก

 

        นอกจากนี้หน่วยงานที่จัดเตรียมพื้นที่สำหรับให้ประชาชนไปลอยกระทง มีข้อแนะนำ คือควรกำหนดพื้นที่ในการลอยกระทง ทำรั้ว หรือสิ่งกั้นขวาง เพื่อป้องกันเด็กตกน้ำ และควรมีผู้ดูแลตลอดเวลา เตรียมอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้ใกล้แหล่งน้ำเป็นระยะๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น ถังแกลลอน เชือก ไม้ ติดป้ายคำเตือนไว้ในพื้นที่เสี่ยง หรือที่ห้ามลงไปลอยกระทง ผู้จัดการพาหนะในการเดินทางทางน้ำต้องเตรียมชูชีพสำหรับผู้โดยสารให้ครบทุกคน และต้องไม่บรรทุกผู้โดยสาร หรือน้ำหนักเกินจำนวน หากประชาชนพบเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บ ขอให้รีบโทร.แจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร. 1669

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก