ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

29 ตุลาคม วันอัมพฤกษ์ อัมพาตโลก สคร.7 จ.ขอนแก่น รณรงค์ “อัมพาต...รู้เร็ว...รอดเร็ว” แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดเสี่ยงได้

วันที่ลงข่าว: 30/10/17

             องค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization : WSO) กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันอัมพฤกษ์ อัมพาตโลก (World Stroke Day) โดยในปี 2560 ใช้คำขวัญในการรณรงค์ คือ “อัมพาต...รู้ (สัญญาณเตือน) เร็ว...รอด (ตาย) เร็ว” Save a life-know the warningsigns of stroke รณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงอันตรายของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งให้ทราบถึงอาการเบื้องต้นของโรค เพื่อจะได้เข้ารับการรักษาให้ทันเวลา

แพทย์หญิงศศิธร ตั้งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้เกิดอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาชาข้างใดข้างหนึ่ง อ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้ เคลื่อนไหวลำบากอย่างเฉียบพลัน โดยโรคหลอดเลือดสมองจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1 โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ทำให้เซลล์สมองและเซลล์เนื้อเยื้ออื่นๆขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน พบร้อยละ 70-75 ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด ประเภทที่ 2 คือ โรคหลอดเลือดสมองแตก พบน้อยกว่าโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน คือร้อยละ 25-30 แต่จะมีความรุนแรงมากกว่า ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองทั้ง 2 ประเภท สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และทุกเพศทุกวัย การเฝ้าระวังสังเกตอาการของโรคจึงเป็นสิ่งที่สำคัญหากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ใบหน้าอ่อนแรง หรือหน้าเบี้ยว พูดลำบาก พูดไม่ชัด ตาข้างใดข้างหนึ่งมัวหรือมองไม่เห็น มีอาการมึนงง เดินเซ ยกแขนไม่ขึ้น 1 ข้าง ให้รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือโทรแจ้ง 1669 เพื่อเรียกรถฉุกเฉินบริการฟรี 24 ชั่วโมง หากเข้ารับการรักษาโดยเร็วหลังจากเกิดอาการดังกล่าว ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของความพิการที่อาจจะเกิดขึ้น และช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เช่น การรับประทานอาหารรสหวาน มัน เค็ม มากเกินไป ทานผักผลไม้น้อยลง ออกกำลังกายน้อยลง มีการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อีกทั้งยังละเลยการตรวจสุขภาพ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และจะส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ในอนาคต

           ดังนั้นการลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต คือ ไม่รับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม มากเกินไป รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ (รสหวานน้อย) ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเริ่มต้นด้วยกิจกรรมเบาๆ ไปจนถึงกิจกรรมปานกลาง เช่น การทำสวน การเดินและทำงานบ้าน ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ลดละหรือเลิกการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ควรตรวจสุขภาพประจำปี

สำหรับสถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองต่อประชากรแสนคน ปี พ.ศ.2557-2559 เท่ากับ 38.63 , 43.28 และ 43.54 ตามลำดับ จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกปี แสดงให้เห็นว่าโรคหลอดเลือดสมองยังคงเป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทยของเราอยู่ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก