ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

จากโลกมืด สู่ผู้นำแห่งแสง “ไกรศร โลหะรัตน์” ชายตาบอดผู้ผ่องถ่ายพลังใจให้โลก!!

วันที่ลงข่าว: 03/10/17
2 ปีกับการเปลี่ยนแปลงโลก ขับกล่อมส่งเสียงสร้างแรงบันดาลใจผ่านโลกออนไลน์ ส่งผ่านแรงบันดาลใจให้กับผู้คนแบบไม่คิดราคาค่างวด ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ขาดแทบทุกด้านของโอกาส แม้กระทั่งการมองเห็น
 
“ศร-ไกรศร โลหะรัตน์” ชายพิการทางสายตาที่นำพาความรื่นรมย์และพลังแรงใจ อย่างเปี่ยมพลัง!!
 
มาตรแม้นดวงตามืดสนิท
ใช่ว่าใจจะมืดมิด ใช่ว่าชีวิตจะมืดมน
 
3 ใน 100 ต่อปี คือสถิติของเด็กที่สูญเสียขาดโอกาสความเป็นคนที่สมบูรณ์ของธรรมชาติ
 
"ไกรศร โลหะรัตน์" หรือ “น้องศร” ทารกน้อยที่เบิกนัยน์ตาแรกแย้มด้วยความสดใส ที่โรงพยาบาลในอำเภอนบพิตำ ตำบลนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ท้องฟ้าก็พลันเปลี่ยนเป็นมืดดำ ไร้ซึ่งแสงสว่างวาบแรกในชีวิตให้จดจำ
 
อนาคตมีเพียงความมืดมิดของวันรุ่งพรุ่งนี้
 
"คุณหมอบอกว่า เกี่ยวกับระบบเส้นประสาทตั้งแต่อยู่ในท้อง สายตาเลยมองไม่เห็นตั้งแต่เกิดแล้ว จำความได้ก็ไม่คิดว่าแปลกผิดปกติ คิดว่าคนอื่นเขาก็เป็นแบบเดียวกับเรา ตื่นนอนมีแสงขาวไรๆ ตกมืดก่อนนอนก็จะดำสนิทๆ จนแม่มาบอกเฉลยว่าเรามองไม่เห็นนะ
 
"เราก็จะถูกสอนให้ช่วยเหลือตัวเองมาตั้งแต่เด็กๆ ให้ทำอะไรด้วยตัวเอง เนื่องจากพ่อแม่ทำงานรับจ้าง ทำให้ต้องย้ายที่อยู่เรื่อยๆ ถ้าเราไม่ช่วยเหลือตัวเองก็ไม่ได้ ก็ทำให้เราใช้ชีวิตได้เป็นปกติ พาไปไหน ครั้งเดียวแค่นั้น พอทีหลังก็ไปเองได้หมด เราหัดช่วยเหลือตัวเองด้วย และก็ด้วยจากประสาทตามันเสียไป มันจะมีสิ่งทดแทนทางด้านอื่นเข้ามา อย่างความจำ ประสาทสัมผัส” “ ” 
 
และประสาทสัมผัสในบรรดา 4 อย่างที่เหลือ “เสียงดนตรี” เป็นสิ่งที่ “ศร” ชื่นชอบมากที่สุด เพราะที่นั่นไร้ซึ่งขอบเขตมากำหนดตีกรอบจินตนาการ
 
“คือเราไม่ต้องสงสัย ถามนั่นโน่นนี่ตลอดเวลา ว่าอันนั้นคืออะไร ไว้ใช้ทำอะไร ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นภาระ ทำไมเราต้องเกิดมาเป็นแบบนี้ บางทีเขาทำอะไรที่เราทำไม่ได้ เขาสนุกสนานกัน บางทีขับรถไปนั่นนี่ ถึงไหนถึงกัน ไอ้เราก็อยากไปถึงไหนถึงนั่นเหมือนกันกับเขาบ้าง แต่มันก็ไม่ได้ ทั้งๆที่ว่าเพื่อนๆ ไม่เคยรังเกียจ แต่ตัวเรา เราจะตัดสินใจไม่ไปกับเขาเอง เพราะว่าเรารู้ตัวเอง ถ้าเราไป คงไม่สนุก ต้องจูงเราไปโน่นนี่นั่นด้วย
 
“เวลาได้ฟังเพลงเราจึงรู้สึกว่ามันไร้ขอบเขต เราใช้จินตนาการได้ไม่มีที่สิ้นสุดว่าสิ่งนั้นคืออะไรยังไง ที่นั่นเป็นแบบไหน ก็เลยชอบเสียงเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ ตอนนั้นพ่อก็จะชอบเปิดเทปคาสเซตต์ เป็นเพลงเพื่อชีวิตด้วย ก็ทำให้เราได้ทั้งแง่คิดมุมมองจากเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวต่อเติมจินตนาการเรามากขึ้น”
 
จากความสุขเล็กๆ น้อยๆ ก็ค่อยๆ กลับกลายเป็นความชอบและเปิดทางให้พรสวรรค์ที่ดั่งฟ้าประทานมา แม้ว่าอุปสรรคในการมองสูญหาย แต่ก็ถูกแทนที่ด้วยสิ่งแวดล้อมรอบข้างอันเสมือนดวงตาที่ 3
 
“คือบางครั้งเรามีความสุขมากๆ ตามประสาเราก็มีแอบคิดว่าถ้าเกิดเรามองเห็นคงดีกว่านี้ สุขกว่านี้อีกเยอะ (ยิ้ม) พอคิดอย่างนั้นก็ทำให้เรากลับมาท้ออีก คิดอีก เพราะความรู้สึกนี้มันยังอยู่ในใจ ก็ได้พี่สาว พี่ทิพย์ ที่ช่วยทำให้ความคิดเราเปลี่ยนไปในทุกครั้งที่เราคิดแล้วเราพูดเปรยๆ ออกมา เขาก็พูดว่าคนที่แย่กว่าเราก็ยังมี เราโชคดีที่เกิดมา ซึ่งแทนที่เราจะมานั่งท้อ มานั่งคิดว่าตัวเองเป็นภาระ เราน่าจะหาสิ่งที่เราพอจะทำได้ทำไม่ดีกว่าหรือศร
 
“คำพูดนี้ยังอยู่ในใจเราตลอด ก็พอที่จะช่วยบรรเทาให้เราไม่คิดถึงมัน จนคนบางคนเขาก็ลืมไปด้วยซ้ำว่าเรามองไม่เห็น เพราะเราช่วยเหลือตัวเองได้เยอะเกินไป บางทีไปงานแล้วบังเอิญลืม ทิ้งเราไว้ เราก็อยู่ของเราได้ เราก็รู้สึกว่าทำไมเขาถึงคิดว่าเรามองเห็น”
 
ศรจึงขยับสภาพจิตใจที่ดีขึ้นด้วยเส้นเสียงดนตรีที่แวะเวียนขับกล่อมโลกของแสงอันมืดมิด และยิ่งโหมโรงเร้าหนักขึ้นขณะเมื่อได้ยินเสียงราชาเครื่องสายอย่าง “กีตาร์” ที่วัยรุ่นหนุ่มวัยกระทงคนใดได้ยิน เป็นอันต้องเอี้ยวเหลียวหยุดด้วยความต้องใจ
 
“ช่วงผมอายุราวๆ 15 ปี พี่สาวแต่งงาน ทีนี้แฟนของพี่สาวเป็นมือเล่นกีตาร์ แรกๆ ได้ยินแล้วก็รู้สึกอยากเล่น คิดว่าเราน่าจะทำได้ แต่ก็ไม่กล้าบอกแกหรอก เพราะเราก็รู้ตัวเราอยู่ว่าเรามองไม่เห็น แกก็คงไม่น่าจะสอนให้ ก็ได้แต่ฟังเสียงเขา แล้วก็ถามเขาว่ามันเรียกว่าอะไร ก็ถึงได้รู้ว่าไอ้นี่มันเรียกว่า “กีตาร์” ทีนี้ด้วยความที่ชอบ ตอนพี่เขยแกไม่อยู่ก็แอบไปเล่น (หัวเราะ) จำได้เลยว่าหยิบมาตอนแรกๆ จับก็โดนเข้าด้าน B ก่อนเลย คือด้านที่ไม่มีสาย แล้วก็มาจับเป็นด้านมือซ้าย ก็ไม่ถนัดอีก ก็ลองจับมือขวา
 
“ก็พยายามดีดแล้วก็ฟังเสียงแต่ละสียง ว่าเสียงไหนเป็นยังไง ไล่ทีละสาย ก็ยังไม่รู้ว่าจับช่องไหนอะไรยังไง ก็ต้องอาศัยฟังตอนที่พี่เขยเขานั่งแกะเพลง ระหว่างที่ฟังก็จำเสียง พร้อมๆ กับจินตนาการว่าแกน่าจะกดตรงนั้นๆ จากที่เราได้ลองไล่สาย ไล่กดตัวโน้ตแต่ละนิ้วบนเฟรตกีตาร์”
 
ชีวิตที่เหมือนมืดสนิทแล้ว ก็พลันสว่างไสว แม้แสงของการมองจะดับลง แต่เมื่อแสงของหัวใจสว่างจ้าขึ้น ต่อให้ยากลำบาก แต่ก็อยากได้ลองให้มันรู้กันไป “ศร” จึงซ้อมแล้วซ้อมเล่า จนเสียงเมโลดี้เป็นดั่งตัวกำหนดลมหายใจเข้า-ออก
 
โด-เร-มี....
โด-เร-มี-ฟา...
ซ้ำไปซ้ำมา จากเช้าจรดเย็น กระทั่งสุดท้ายปลายสัปดาห์ตั้งแต่เริ่มจับเริ่มเล่น ปาฏิหาริย์ก็บังเกิด
 
“คอร์ดแรกคือคอร์ด C ที่จับถูกต้อง คอร์ด C เป็นคอร์ดพื้นฐานในการเช็กสาย ก็มาลองจับให้เขาดู แล้วก็ถามเขาว่านี่ใช่คอร์ดแรกที่พี่ชอบดีดใช่ไหม มันคือคอร์ดอะไร พี่เขาก็ตกใจว่าเราจับได้อย่างไร ก็บอกเขาไปว่าฟังเอาทีละโน้ตๆ เอามาผสมกันว่ามันน่าจะมีเสียงนี้ๆ แกก็ตะลึง ถึงแม้เราจะฟังก็จริง แต่การผสมเสียงให้มันได้เป็นหนึ่งคอร์ดมันยากมาก

“หลังจากนั้น แกก็เริ่มสอนบ้าง แต่ก็ไม่ได้อยู่ดี เพราะว่าไม่สามารถเอานิ้วไปวางได้ คือมันไม่ได้ออกมาจากความจำจากตัวเรา เราจะเล่นเองได้ ต้องอาศัยสัมผัสของเราเท่านั้น ก็ใช้วิธีให้พี่เขาเล่นให้ฟังแล้วจำไว้ ทีนี้ก็ไปนั่งไล่เสียงแล้วก็จับตาม ก็ใช้เวลาประมาณเดือนครึ่งถึงสองเดือน (ยิ้ม) พอเริ่มเป็นทีนี้พี่แกก็อยากให้เราเล่น ก็วางไว้ให้ประจำตำแหน่งของเราที่สามารถหยิบจับได้ง่าย ก็ไปนั่งเล่นทุกวัน ฝึกทั้งวัน เพราะถึงแม้เราจะรู้ตำแหน่งนิ้วต่างๆ แต่การเปลี่ยนคอร์ดมันก็ค่อนข้างช้า และที่สำคัญยังมีคอร์ดใน คอร์ดสายเปิด คอร์ดทาบ ก็ต้องฟังเพลงเยอะขึ้น พยายามหาเพลงที่มีการเล่นคอร์ดหลากหลาย
 
“พอเริ่มเล่นกีตาร์เป็นแล้ว ทีนี้พี่เขยก็ให้ไปช่วยงาน งานแรกเราเองก็ไม่ค่อยกล้าแสดงออกเท่าไหร่ ไปเป็นมือกีตาร์ตีคอร์ดคู่กับพี่เขย แต่เราไม่กล้าที่จะแสดงออก พี่เขยเขาก็ให้คำแนะนำอีกว่ามันก็เท่ากับว่าคุณเล่นได้ ไม่ได้เล่นเป็นหรอก ในเมื่อเป็นแล้วต้องกล้าที่จะเล่นให้คนอื่นฟังด้วย คุณอย่าคิดเองว่าคุณเป็น คุณต้องให้คนอื่นตัดสิน ถ้าในเมื่อคุณเป็น แต่คุณไม่กล้าที่จะทำ”
 
เติมพลังแด่ผู้กำลังร่ำไห้ทำสิ่งใดได้ ก็พร้อมที่จะทำ!
 
หาก “สิ่งที่สวยงามเกี่ยวกับการเรียนรู้ คือไม่มีใครสามารถเอามันออกไปจากคุณ” อย่างที่ราชาเพลงบลูส์ผู้ยิ่งใหญ่ บี.บี.คิง (Riley B. King) กล่าวไว้ ศรในขณะที่พรสวรรค์ในการฟังเสียงรุดหน้า ทักษะความสามารถทางร่างกาย “ศร” ที่มองด้วยตา คงพัฒนาจนถึงขีดจำกัดในรูปแบบมือคอร์ด จึงไม่ใช่ปัญหาที่จะหยุดฝันไว้แค่ตรงนั้น
 
“เพราะหลังจากช่วยงานพี่เขยเรื่อยๆ ทางวงก็จะขยายวง ได้คีย์บอร์ดมา แต่ไม่มีคนเล่น พี่เขยก็บอกว่ากีตาร์มันเริ่มไม่เหมาะกับเราแล้ว โอกาสทางกีตาร์ที่เราจะพัฒนาขึ้นก็ต้องเข้มงวด เป็นมือโซโล เราก็ยังไม่เข้าใจ ไม่มีคนแนะแนวให้ลองเรียนรู้ แต่ถ้าคีย์บอร์ดไม่ต้องหัดเล่นเลย พื้นฐานเราใช้เสียงฟังโน้ต ก็เล่นเป็นทันที แต่ถ้าถามว่าส่วนตัวชอบหรือไม่ ก็ไม่ชอบ แต่ด้วยความจำเป็นทั้งสองอย่างก็เลยต้องเบรกกีตาร์แล้วมายืนตำแหน่งนี้แทน จากนั้นก็จะฟอร์มวงให้ใหญ่ขึ้นอีก ก็ไปตีกลองอีก”
 
แต่มันไม่ใช่ความฝัน
และมันไม่ใช่ทางที่ลำบากฟันฝ่ามา
“ความคิดหลักของเราก็คือ อยากให้เขารู้ว่าเราก็ทำได้ อยากให้เขารู้ว่า ถึงแม้เรามองไม่เห็น เราก็สามารถเล่นได้ เพราะเคยมีคนพูดกับเราว่าจะเล่นได้หรือ กีตาร์มีตั้ง 6 สาย ตาก็มองไม่เห็น เมื่อผมพอจะเล่นได้ ก็เลยตั้งเป้าความฝันว่าอยากจะพิสูจน์ลบคำนั้น และให้คนอื่นเห็นว่าคนอย่างเราทำได้ ใจก็อยากจะเล่น อยากจะทำอย่างนั้นตลอด ก็บังเอิญโชคเข้าข้างเราอีก ตอนที่เราเล่นกีตาร์อยู่ พี่เขยเห็นเราร้องเพลงด้วย และถ้ามือกลองร้องเพลงมันจะหนัก หลังจากนั้นชีวิตมันก็เปลี่ยนไปอีก ก็กลับมาเล่นกีตาร์เหมือนเดิม
 
“แต่การกลับมาครั้งนี้มันทำให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป (ยิ้ม) เพราะเหมือนกับมันมีอะไรเพิ่มเติมเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว ถึงได้บอกว่าโชค จากที่เคยเล่นแค่คอร์ด ทำไมพอเรามาจับอีกครั้ง เราโซโลได้เลย คืออาจจะเป็นเพราะว่าคีย์บอร์ดทำให้เราได้พัฒนาทักษะทางเสียงให้แม่นยำขึ้น กลองก็ช่วยแยกประสาทให้เราทำได้ดีขึ้น รวดเร็วขึ้นจากที่ผ่านมาสัมผัสเพียงคอกีตาร์
 
“ยิ่งกว่านั้นมันยิ่งเปลี่ยนจากพิสูจน์ตัวเองว่าเราสามารถทำได้ มาเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นเห็นว่าเราทำได้ เพราะพอวงเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น ไม่ใช่แค่กลุ่มคนรอบข้างในหมู่บ้าน เขาได้เห็นได้ฟังเราเล่น เขาถามว่าเราทำได้อย่างไร เล่นได้อย่างไร บอกว่าเราน่าจะเป็นตัวอย่างของหลายๆ คน ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจ มีความฝันมากกว่านั้นว่า ถ้าเราจะทำอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง เราจะสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นกำลังใจให้กับใครหลายๆ คนดีกว่า
 
“เพราะจากการช่วยเหลือ เราได้แค่คำพูด แต่คำพูดแต่ละคำที่ได้รับมา มันก็มีความหมาย เราก็อยากส่งต่อความหมายทางเสียงที่สามารถทำให้เราลุกขึ้นได้ คนอื่นก็ต้องลุกขึ้นได้บ้าง พูดในใจกับตัวเอง คุณมองไม่เห็นนะศร แล้วคุณน่าจะใช้การที่คุณมองไม่เห็นให้เป็นประโยชน์ไหม เป็นประโยชน์ ณ ที่นี้ก็คือ ถ้าเขาได้ดูเราแล้วเขามีความสุขกับการได้ดู เขาเริ่มที่จะมีกำลังใจในการได้ดูเรา เขามองย้อนดูมาที่ตัวเองว่าเขาครบกว่าเรานะ ทำไมเขาถึงท้อซะล่ะ เราก็เลยทำความฝันให้ก้าวโตขึ้น เราเชื่อว่ามันก็ยังดีกว่าที่เราไม่ได้ทำ ไม่รู้ว่าจะได้มากน้อยแค่ไหน แต่เรายังทำ แน่นอนว่ามันต้องดีกว่าเรานั่งอยู่กับที่”
 
ราวปี 2556 “ศร รวมพลคนดนตรี” จึงถือกำเนิดเกิดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงและกำลังใจภายใต้ชายคาบ้านอย่างเรียบง่ายทว่าจับและกินใจ ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายสิ่งบนโลกโซเชียลที่ร้อนแรงรวดเร็วให้สงบเย็น และเป็นแรงบันดาลใจ 
 
“แรกๆ ที่ทำคนดูสองคนบ้าง สามคนบ้าง ก็ไม่ได้น้อยใจอะไร ตรงกันข้าม ดีใจมากเลย เพราะเราไม่ได้อยากดัง แต่เราอยากจะส่งข้อความกำลังใจ มีคนดู เราก็ดีใจ แม้ว่าจริงๆ อาจจะมีคนมองอีกด้าน คือมองว่าเรามองไม่เห็น ทำไมเรากล้าออกสื่อ หรือมองตลกขบขัน แต่เรามองแค่อยากให้เขาเข้ามาฟังเพลง แล้วเจตนารมณ์ก็อยากสื่อให้เห็นว่ามองไม่เห็น ไม่คิดว่าเขาจะรับได้ไหม จะมองว่าดีไม่ดี ไม่คิด คิดอยู่อย่างเดียว เราได้ทำแล้วมีคนฟัง ได้ยินได้ฟังสิ่งที่เราอยากจะบอก จะเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหนไม่สำคัญ
 
“แต่มันก็เปลี่ยนแปลงในปี 2558 คลิปเพลง 'ขัดใจ' ศิลปินวงคัลเลอร์พิท เกิดจากน้องเขาส่งเพลงมาให้ฟัง แล้วท้าว่า ถ้าพี่แน่จริง พี่ต้องเล่นเพลงนี้ให้ได้ แล้วมันเป็นอะไรที่ยากมาก ยากจริงๆ พอได้ฟังเสียงกีตาร์ขึ้นมาปุ๊บ แต่ก็รับคำท้า คืนเดียวต้องเล่นได้ ก็ฟังทั้งคืนเลยคืนนั้น ตื่นเช้ามาก็เล่นแล้วก็โพสต์ พออีกวันหนึ่งก็แชร์กันเยอะมาก ไม่คิดว่าจะขนาดนั้น
 
“วินาทีนั้น บอกตรงๆ นั่งร้องไห้เลย เพราะเหมือนเราได้ไปถึงจุดจุดหนึ่งแล้ว คุณสุดยอดมาก คุณเป็นแรงบันดาลใจที่ดี คุณคือกำลังใจ คุณคือตัวอย่าง และที่จำได้ไม่ลืมเลยคือ มีเคสน้องคนหนึ่งอยู่โรงพยาบาล แม่ของเขาโทร.เข้ามาแล้วเล่าให้ฟังว่าลูกชายเขามีความท้อแท้ในชีวิต น้องเขาพยายามจะฆ่าตัวตาย ทีนี้ในระหว่างรักษาเขาบังเอิญได้ดูคลิป เขาก็บอกกับแม่เขาว่าเขาจะไม่ทำอย่างนี้อีกแล้ว เขาก็โทร.มาร้องไห้กับเรา ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกัน คือไม่คิดว่าเราเก่ง แต่เหมือนเขาได้รับในสิ่งที่เราให้แล้ว”
 
สิ่งที่เหลือของคนบางคนอาจจะยิ่งใหญ่มีค่าสำหรับอีกคนหนึ่ง
ดังนั้นชื่อเสียงความโด่งดังหรือเงินทองอาจจะเป็นเป้าหมายของใครหลายๆ คน แต่ไม่ใช่กับ 'ศร'
 
“ความสุขกับการที่เราเป็นกำลังใจให้กับคนอื่น มันเหมือนกับเราได้ให้อะไรเขาสักอย่างหนึ่งที่มันมีค่ามากกว่าเราจะไปให้เงิน คือมันเหมือนกับเราได้ช่วยให้เขาดีขึ้น แล้วเราก็มองกลับมาทางเรา ถ้าเรามองไม่เห็นแล้วเราได้รับสิ่งสิ่งนั้นบ้าง เราน่าจะดีใจขนาดไหน”
 
ส่งสารจากใจ ฝากไว้ในเพลงกล่อมฝันบรรเลง ชุบใจผู้ฟัง
 
ร้อยกว่าบทเพลงกำลังใจทั้งแบบฉบับสั้นๆ คลิปต่อคลิปไปจนไลฟ์สดรีเควสต์ขอกันได้ตามสั่ง ยาวนับชั่วโมง ถนนของศร ชายคนหนึ่งที่ภายใต้โลกสีดำลูกนี้ พุ่งตรงไปอย่างแข็งแกร่งและไม่ลดละ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของกระทั่งตอนนี้...
 
ทุกอย่างประจักษ์ชัด
ทุกอย่างในทุกๆ อย่างได้ถูกถักทอไปด้วยแง่คิดมุมมองในวันที่เรายังดีกว่าและร้อยเรียงเปี่ยมความไพเราะ แม้ในโมงยามเศร้าโศกสิ้นหวังท้อแท้ไร้กำลังใจ แต่นี่คือสัญญาของการก้าวเดินต่อไปบนโลกใบนี้
 
“ชีวิตสำหรับเราคืออะไร การที่เราทำ ณ ขณะนี้ให้ดีที่สุด เท่าที่เราทำได้ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม เพราะว่าไม่ว่าวันข้างหน้าจะเป็นยังไง วันข้างหน้าผลที่เราทำจะออกมาเป็นอย่างไร แต่มันก็คงยังดีกว่าที่เราไม่ทำ ทุกวันนี้ก็ไม่คิดเหมือนกันว่าเราจะมาถึงจุดนี้ได้ 
 
“แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือ เราต้องคิดว่า ถ้าเขาให้ชีวิตเรามาแล้ว เราก็ต้องใช้ชีวิตเราให้เป็นประโยชน์ คุณทำอะไรได้ คุณก็ทำสิ่งนั้น หาคุณค่าของตัวเองให้เจอ และทำมันให้ดีที่สุด แค่นี้สำหรับคนที่ท้อก็ขอให้เปรียบเทียบกับคนที่แย่กว่าเรา อย่าเปรียบเทียบกับสิ่งที่ทำให้ตัวเองท้อ
 
“ความเปลี่ยนแปลง ณ ขณะนี้ก็คือ ถึงอย่างน้อยเราเป็นอย่างนี้ เราก็สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ลดภาระของครอบครัวได้ แม้เราแตกต่าง เราก็ไม่ได้แปลกแยกไปจากคนอื่นเขา เราสามารถอยู่ในสังคมนี้ได้ โดยที่ไม่มีคนอื่นพูดถึงปมด้อยของเรา
 
“ส่วนเรื่องชีวิตตอนนี้ก็มีงาน รับเล่นงานของตัวเอง และมีซิงเกิลเพลงที่แต่งเป็นเพลงของตัวเองเพลงแรกในชีวิต (ยิ้ม) ชื่อเพลง 'เพราะเส้นทางเราต่างกัน' ที่ได้รับโอกาสจากพี่ 'สเตฟาน บ้านนา' และ 'พี่อดุลย์ เกตุสงเคราะห์' ลงทุนเรียบเรียงดนตรีและอัดให้ทั้งหมด ก็ไม่ได้คิดว่าได้รับความนิยมถึงเกือบ 2 ล้านวิว คือเราคิดว่าแค่ได้แชร์ความรู้สึกของเราตอนนั้น ได้ส่งสารของเรา คำกำลังใจจากเราได้ตรงใจ
 
“ก็อยากให้ทุกๆ คนคิดแค่ว่าเรามองไม่เห็น แต่ยังสามารถต่อสู้มาได้จนถึงวันนี้ ถึงแม้ว่าวันข้างหน้าเราจะต้องเจออะไรก็ไม่รู้ แต่อยากให้คิดว่า มันก็ดีกว่าการที่เราจะหยุดอยู่กับที่ คือสิ่งที่ดีที่สุดกับการที่เราได้ให้ นี่คือสิ่งที่มีค่าที่สุดกับการที่เราได้ทำ การให้กันและกัน ส่งต่อกันและกัน”
 
 
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ไกรศร โลหะรัตน์
 
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 2 ตุลาคม 2560

Video ประกอบข่าวประจำวัน

^ กลับสู่เนื้อหาหลัก