ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

จังหวัดชัยนาทสานพลังพลเมืองจิตอาสาประชารัฐเพื่อสังคมเป็นสุข

วันที่ลงข่าว: 29/09/17

         วันที่ 28 ก.ย.60  ที่มูลนิธิบูรณะชนบท ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จังหวัดชัยนาท นพ.พูลสิทธิ์ ศีติสาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท เป็นประธานในพิธีร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงสานพลังพลเมืองจิตอาสาประชารัฐเพื่อสังคมเป็นสุข โดยมี พระครูพระสุธี วราภรณ์ (ยุวชน เขมปญฺโญ ) เจ้าคณะจังหวัดชัยนาท นางดวงพร อิฐรัตน์ นายกสมาคมสานพลังภาคีเครือข่ายชัยนาท (สสภช.) นายจุมพฎ เจตน์จันทร์ นายกสมาคมนักข่าวจังหวัดชัยนาท นายสมชาย อยู่สุข กรรมการชมรมคนรักในหลวงจังหวัดชัยนาท และพลเมืองจิตอาสาเครือข่ายภาครัฐ ภาคท้องถิ่นภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่ 8 อำเภอ รวมจำนวน 250 คน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนกิจกรรม 6 ประการ ได้แก่ 1) สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลองค์กรจิตอาสา 2) จัดกิจกรรมเสริมพลังพลเมืองจิตอาสาประชารัฐ 3) สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มประชาชนในภาวะยากลำบากและกลุ่มเปราะบางในท้องถิ่น 4) สำรวจ/จัดทำฐานข้อมูลและจัดทำแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภูมิศาสตร์ พื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติธรรมชาติ 5) จัดตั้งระดมทุน “กองทุน พุทธเมตตาจิตอาสาประชารัฐจังหวัดชัยนาท” 6)ให้ความช่วยเหลือกลุ่มประชาชนในภาวะลำบากและ กลุ่มผู้ประสบภัยพิบัติฯ ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดชัยนาท

        ทั้งนี้ การจัดตั้ง “กองทุนพุทธเมตตาจิตอาสาประชารัฐจังหวัดชัยนาท” เกิดจากแนวคิดของ พระสุธี วราภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดชัยนาท ที่สานพลังภาคีเครือข่ายประชารัฐ เพื่อระดมทรัพยากรและบูรณาการความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวชัยนาทที่ประสบภาวะยากลำบากร่วมกันด้วยอุดมการณ์ “คิดดี ทำดี เพื่อพ่อแห่งแผ่นดิน” ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

        ด้าน นพ.พูลสิทธิ์ ศีติสาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า การจัดเวทีสานพลังพลเมืองจิตอาสาประชารัฐจังหวัดชัยนาท เป็นการดำเนินงานร่วมกันทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาสังคมที่เป็นสุขของจังหวัดชัยนาท ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนกันยายน 2560 ผลการสำรวจข้อมูล โดยทีมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและแกนนำพลเมืองจิตอาสา 8 อำเภอ พบข้อมูลที่สำคัญ คือ จังหวัดชัยนาทมีกลุ่มประชาชนที่อยู่ในภาวะยากลำบากและกลุ่มเปราะบางที่มีความทุกข์ยากจำเป็นเร่งด่วนที่สังคมควรให้ความช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 1,830 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง สำหรับสภาพความยากลำบาก พบว่าเป็นผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง รองลงมา ได้แก่ คนไร้บ้าน อดีตผู้ต้องขัง ผู้ป่วยติดบ้าน/ติดเตียง และคนพิการ

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก