ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศและอาเซียนบวกจีน เร่งรัดมาตรการป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมายของอนุสัญญาไซเตส โดยเฉพาะตัวลิ่นและนอแรด

วันที่ลงข่าว: 18/09/17

        กลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศและอาเซียนบวกจีน เร่งรัดมาตรการป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมายของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) โดยเฉพาะตัวลิ่น(ตัวนิ่ม) และนอแรด ขณะที่จีนเน้นบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น จนการบริโภคงาช้างในประเทศลดลงร้อยละ 70

        พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมาย ครั้งที่ 4 พร้อมด้วยสำนักงานภูมิภาคของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ประจำภูมิภาคเอเชีย ผู้แทนจากบรูไน มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ลาว และเวียดนาม เพื่อร่วมกันหามาตรการรองรับการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมายที่อยู่ในบัญชีของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) หลังเกิดการลักลอบค้าโดยใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางขนส่งผ่านจากประเทศต้นทาง เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไปยังประเทศปลายทางที่มีความต้องการบริโภค โดยเฉพาะตัวลิ่น(ตัวนิ่ม) นอแรด และงาช้าง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นเส้นทางหลักที่กลุ่มขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมายข้ามชาติใช้ขนส่งสิ่งผิดกฎหมายไปยังประเทศปลายทาง จนไซเตสจับตามองเป็นพิเศษ ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบันที่กลุ่มขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าปรับเปลี่ยนเส้นทางหนีการจับกุม เพื่อร่วมกันป้องกันและควบคุมการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ควบคู่กับลดค่านิยมการบริโภคสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ที่ผิดๆ ภายในอาเซียน โดยจะเริ่มรณรงค์ในประเทศไทยก่อนไม่กินสัตว์ป่าที่หายาก ขณะที่ตลาดซื้อขายสัตว์ป่าและพืชป่าหลบเลี่ยงไปใช้เส้นทางการค้าบนสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียมากขึ้น จึงจัดชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดงติดตามและเฝ้าระวังการซื้อขายสิ่งผิดกฎหมาย จนสามารถจับกุมของกลางและผู้ต้องหาได้หลายคดี

        ขณะที่บนเวทีการประชุมระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมายแต่ละประเทศได้รายงานสถานการณ์และผลปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญาไซเตส ซึ่งผู้แทนจากประเทศจีน กล่าวว่า จีนให้ความสำคัญการป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่า ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและจัดอบรมเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ท่าอากาศยาน เพื่อตรวจสอบการลักลอบส่งสัตว์ป่าผ่านช่องทางสนามบิน ซึ่งจากการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทำให้สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ถึงร้อยละ 70 จากสถิติในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ากรมศุลกากรจีนจับกุมกลุ่มขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าได้มากกว่า 11,000 คดี มีผู้ต้องหา 12,000 คน ตรวจยึดพืชป่าและผลิตภัณฑ์ของกลางได้ 240 ตัน และตั้งแต่ต้นปี 2560 ถึงปัจจุบันมีประมาณ 70 คดี ยึดของกลางได้ 20 ตัน ส่วนการบริโภคงาช้างในจีนลดลงร้อยละ 70 หลังจากเร่งปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยทำลายงาช้างที่ยึดมาแล้วประมาณ 6.1 ตัน ทั้งนี้ ผู้แทนจากประเทศจีน ยืนยันว่า รัฐบาลจีนจะให้ความร่วมมือกับต่างประเทศ องค์กรต่างๆ และกลุ่มสมาชิกอาเซียนต่อสู้กับอาชญากรรมค้าสัตว์ป่าและพืชป่าข้ามชาติอย่างเต็มที่

        ด้านผู้แทนจาก สปป.ลาว กล่าวว่า สปป.ลาว มีความพยายามจะกำจัดสวนเสือออกไปจากประเทศ เนื่องจากเกิดการลักลอบเพาะพันธุ์เสือเพื่อจำหน่ายตามความต้องการของตลาด โดยร่วมมือกับเอ็นจีโอพัฒนาแผนการจำกัดสวนเสือในประเทศ ควบคู่กับการปิดการค้าขายงาช้างในตลาดด้วย ซึ่งช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สามารถตรวจยึดสัตว์ป่าได้ 2,887ตัว

ส่วนประเทศไทยเน้นย้ำต่อสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับความเข้มงวดและจริงจังของแผนปฎิบัติงานการปราบปรามการค้างาช้าง ที่ไทยประสบความสำเร็จและจะพยายามมุ่งมั่นต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าในอนาคต

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก