ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รมว.พม. ร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 18 ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์และร่วมฉลองครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 18/09/17

         วันที่ 13 ก.ย. 60 เวลา 09.00 น. นายณรงค์ คงคำ โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 18 ณ เมืองตาไกไต สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

 

        พลตำรวจเอก อดุลย์ เปิดเผยว่า ก่อนการประชุมในระดับรัฐมนตรีดังกล่าว ได้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 11-12 กันยายน 2560 เพื่อเป็นการพิจารณาเอกสารสำคัญและจัดทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรี โดยมี นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเข้าร่วมประชุ ทั้งนี้ สำหรับการประชุมคณะมนตรีในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก H.E. Mr. Emmanuel A. Leyco รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสวัสดิการสังคมและการพัฒนา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Acting Secretary, Department of Social Welfare and Development) เป็นประธานในพิธีเปิดและเป็นประธานในการประชุมฯ

 

        พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ในถ้อยแถลงที่มีต่อที่ประชุมครั้งนี้ ตนได้กล่าวแสดงความยินดีต่อความก้าวหน้าในการจัดทำเอกสารที่จะมีการเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 31 ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ณ เมืองปัมปังกา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ จำนวน 11 ฉบับ ดังต่อไปนี้

 

1) เอกสารเพื่อลงนาม 

ฉันทามติอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว (ASEAN Consensus on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers)

 

2) เอกสารเพื่อรับรอง 

2.1 ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการยุติภาวะทุพโภชนาการในทุกรูปแบบ (ASEAN Leaders’ Declaration on Ending all Forms of Malnutrition)

 

2.2 ปฏิญญาผู้นำอาเซียนที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในเรื่องการดื้อต่อสารประกอบที่ใช้ฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพ (AMR): การต่อสู้ AMR โดยใช้แนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว (ASEAN Leaders’ Declaration on Anti-Microbial Resistance (AMR): Combating AMR through One Health Approach)

 

2.3 ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 และเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืน โดยพิจารณาถึงมิติหญิงชาย (ASEAN Declaration on the Gender-Responsive Implementation of the ASEAN Community Vision 2025 and Sustainable Development Goals)

 

2.4 ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยเรื่องดัชนีการพัฒนาเยาวชน (ASEAN Declaration on the Adoption of the ASEAN Youth Development Index)

 

2.5 แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ ต่อภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Joint Statement on Climate Change to the 23rd Session of the Conference of the Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC COP-23))

 

2.6 ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยเรื่องการจัดการเรื่องอนามัยในยามเกิดภัยพิบัติ (ASEAN Leaders’ Declaration on Disaster Health Management)

 

2.7 แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการส่งเสริมสตรี สันติภาพ และความมั่นคงในอาเซียน (Joint Statement on Promoting Women, Peace and Security in ASEAN)

 

2.8 ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมการป้องกันเพื่อมุ่งไปสู่สังคมแบบสันติ ครอบคลุม เข้มแข็งและกลมเกลียว (ASEAN Declaration on ‘Culture of Prevention’ for a Peaceful, Inclusive, Resilient, Healthy and Harmonious Society)

 

3) เอกสารเพื่อรับทราบ 

3.1 ดัชนีการพัฒนาเยาวชนอาเซียนฉบับที่หนึ่ง (First ASEAN Youth Development Index)

 

3.2 ปฏิญญาร่วมอาเซียนว่าด้วยสารเคมีและของเสียอันตรายต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซล ครั้งที่ 12 การประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญารอตเตอร์ดัม สมัยที่ 8 และการประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญาสตอกโฮล์ม สมัยที่ 8 และการประชุมรัฐภาคีของทั้งสามอนุสัญญา ในปี 2560 (ASEAN Joint Declaration on Hazardous Chemicals and Waste to the 13th Meeting of the Conference of the Parties to the Basel Convention (BC COP-13), the 8th Meeting of the Conference of the Parties to the Rotterdam Convention (RC COP-8); and the 8th Meeting of the Conference of the Parties to the Stockholm Convention (SC COP-8) / 2017 Meetings of the COPs to the Basel, Rotterdam, and Stockholm (BRS) Conventions)

 

และเสนอว่าการทำงานก้าวต่อไปของอาเซียน ต้องให้ความสำคัญและสนองตอบต่อความต้องการของคนในภูมิภาค โดยเฉพาะใน 3 เรื่อง ได้แก่ 

1) การส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่สนองตอบต่อทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะประชาชนในระดับรากหญ้า อาเซียนควรลงทุนในเรื่องการคุ้มครองทางสังคม เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

2) ในระดับประเทศ ทุกประเทศควรเร่งดำเนินการตามข้อตกลงและพันธะสัญญาต่างๆ ของอาเซียน โดยเน้น การมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนให้มากขึ้น

 

3) การร่วมมือกับสาขาต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยเฉพาะในประเด็นที่ต้องร่วมมือกับหลายสาขา

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก