ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

"ปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์" พลิกชีวิตคนพิการ

วันที่ลงข่าว: 14/09/17

       ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา ให้ความรู้ปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการและผู้ดูแล
       วันนี้ (14 ก.ย. 60) กลุ่มผู้พิการที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และผู้ดูแลผู้พิการที่อาศัยอยู่ในอำเภอกรงปินังและอำเภอบันนังสตา ตำบลตลิ่งชัน กว่า 50 คน ให้ความสนใจเข้าร่วมฝึกอบรมและดูวิธีสาธิตการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา ซึ่งเป็น "โครงการไฮโดรโปรนิกส์ พลิกชีวิตคนพิการ" ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ที่ต้องการสร้างโอกาส ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ ให้ผู้พิการ และผู้ดูแลผู้พิการ ให้สามารถประกอบอาชีพได้ที่บ้าน เพื่อเลี้ยงดูตนเองและคนในครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมยกระดับฐานทางเศรษฐกิจให้ครอบครัวผู้พิการ ตลอดจนเป็นต้นแบบให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้พิการที่มีคนพิการในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
       นางอวยพร เอียดไสย ผู้ดูแลคนพิการติดเตียง ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา กล่าวว่า หลังจากได้รับความรู้การปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ ขั้นตอนไม่ยาก คิดว่ากลับไปก็จะทดลองทำดู น่าจะทำได้
       เช่นเดียวกับนายสมหวัง ชำนาญแทน ผู้พิการขา จากตำบลตลิ่งชัน อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา กล่าวว่า วันนี้ได้เรียนรู้หลายอย่างเกี่ยวกับการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ ทั้งการเพาะ การปลูก การใช้น้ำหมุนเวียน คิดว่าจะนำความรู้ที่ได้รับกลับไปทดลองปลูกที่บ้านดู เพื่อเป็นการต่อยอดการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์
       ขณะที่นายวานิชย์ ศรีสุวรรณ พนักงานราชการศูนย์วิจัย และพัฒนาการเกษตรยะลา/วิทยากร กล่าวว่า การให้ความรู้การปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ ครั้งนี้ ก็จะสอนขั้นตอนตั้งแต่เริ่มแรกในการจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จะใช้ปลูก การดูแล การนำเมล็ดพันธุ์ผักลงปลูก ทั้งผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักเรดโอ๊ค และกรีนโอ๊ค โดยจะประยุกต์จากโรงเรือนใหญ่ย่อส่วนลงมาปลูกในครัวเรือน โดยเน้นส่งเสริมการปลูกในครัวเรือนก่อนถ้าชำนาญก็สามารถขยายต่อไปได้
       สำหรับการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ หรือพืชไร้ดิน จะเป็นวิธีการปลูกผักที่สะดวก ดูแลรักษาน้อย ให้ผลผลิตดี การลงทุนก็จะลงทุนเพียงครั้งเดียวในการซื้ออุปกรณ์ต่างๆ แต่ได้ผลผลิตยาวนาน เมื่อเพาะไป 35-40 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ โดยรอบปีเก็บผลผลิตได้ถึง 12 ครั้ง ส่วนการปลูกผักในดินจะดูแลมากกว่า ทั้งการถากหญ้า ใส่ปุ๋ย รดน้ำ และการดูแลป้องกันโรค ป้องกันแมลง
       ซึ่งการเรียนรู้การปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ นี้ จะทำให้เกษตรกรผู้ที่เข้ารับการอบรม สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและต่อยอด นำไปประกอบอาชีพเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้
 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก