ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กระทรวงศึกษาธิการ แจงแนวทางการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน

วันที่ลงข่าว: 12/09/17

       จากกรณีนายโสภณ ชัยวัฒนกุลวานิช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เปิดเผยถึงงานวิจัยเรื่อง แนวทางการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินนั้น

       นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่ากระทรวงศึกษาธิการมีแหล่งให้บริการการศึกษาสำหรับผู้พิการนอกระบบโรงเรียน ได้แก่ กศน. มีสถานศึกษานอกระบบทุกอำเภอ/เขต จำนวน 998 แห่ง การให้บริการ กศน. มีการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการทุกประเภท ทุกตำบล/แขวง 8,860 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ และมีศูนย์การศึกษาพิเศษทุกจังหวัด มีครู กศน. ให้บริการการศึกษาสำหรับผู้พิการครอบคลุ่มทุกพื้นที่ ซึ่งกศน.ตำบลทุกแห่งพร้อมให้บริการ จัดการเรียนรู้ ให้ประชาชน ทุกประเภท โดยเป็นไปตามความต้องการของผู้เรียน

       นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการมีช่องทางให้การบริการหลายรูปแบบในการให้บริการ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการและความพร้อมของผู้พิการและครอบครัวด้วย การจัดการศึกษามีหลายรูปแบบที่ต้องจัดการศึกษาให้กับผู้พิการ ซึ่งต้องมีการคัดกรอง ประเภทความพิการ โดยให้ครู 1 คน ดูแลรับผิดชอบผู้พิการไม่เกิน 10 คน ข้อจำกัดของบุคลากรส่วนใหญ่ที่ไม่จบการศึกษาสำหรับคนพิการจึงทำให้ไม่สามารถดูแลผู้พิการได้ทุกประเภท สำหรับกรณีกลุ่มเป้าหมายมีความประสงค์จะเรียน สถานศึกษาสามารถจัดหาวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถมาให้ความรู้ได้ตามความต้องการ

       สำหรับผู้พิการมีความพิการหลายประเภท ทำให้การจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีข้อจำกัดไม่สอดคล้องกับความพิการครบทุกประเภท ขณะนี้กระทรวงศึกษากำลังดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องตรงกับความพิการแต่ละประเภท ที่ผ่านมาการศึกษาสำหรับผู้พิการเน้นการศึกษาให้มีความรู้ด้านการศึกษาตามอัธยาศัย ด้านการศึกษาพัฒนาอาชีพ ด้านการศึกษาทักษะชีวิต การช่วยเหลือตนเอง ไม่เป็นภาระต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม ด้านสื่อสำหรับผู้พิการ มีไม่เพียงพอ มีข้อจำกัดตามความพิการ แต่กระทรวงศึกษาธิการได้พัฒนารูปแบบ วิธีการที่หลากหลาย ให้เรียนรู้ตามตามศักยภาพ ตามความสนใจ โดยให้ผู้เรียนสามารถเลือกสื่อได้ตามความเหมาะสม

       ในส่วนของการประเมินผลการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการ ประเมินตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีกระบวนการ วิธีการที่มีความยืดหยุ่นในการประเมิน โดยสามารถให้ครู อำนวยความสะดวกในการดำเนินการสอบได้ตามสมควรและเป็นไปตามระเบียบ

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก