ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สธ.เผยเด็กพิเศษใน7จ.อีสาน เข้าถึงบริการน้อย เหตุเพราะพ่อแม่อาย เชื่อว่าเกิดจากบาปกรรมที่พ่อแม่สร้าง

วันที่ลงข่าว: 07/09/17

        กรมสุขภาพจิต เผยกลุ่มเด็กพิเศษ อาทิเด็กสมาธิสั้น เด็กสมองพิการ เด็กบกพร่องทางสติปัญญาและพิการในพื้นที่7 จังหวัดอีสาน ในเขตสุขภาพที่ 8 ยังเข้าถึงบริการรักษาฟื้นฟูน้อยไม่ถึงร้อยละ 30 สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดมาจากผุ้ปกครองเชื่อว่าเป็นผลมาจากบาปกรรมที่พ่อแม่สร้างมา เร่งแก้ไขปัญหาโดยตั้งชมรมผู้ปกครองเด็กพิเศษทุกประเภท เป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สร้างความเข้าใจปัญหาความพิการและดีงเด็กเข้าสู่ระบบบริการพบว่าได้ผลดีมาก ผู้ปกครองสุขภาพจิตดีขึ้น สามารถส่งเด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียนได้ร้อยละ 30 เตรียมขยายผลครอบคลุมทุกอำเภอในปี 2561

 

         นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และคณะ ตรวจเยี่ยมศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 จ.อุดรธานี เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรคในการปฎิบัติงานตามนโยบายกรมสุขภาพจิตในปีงบประมาณ 2560 โดยศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 เป็นศูนย์วิชาการของกรมฯ ทำหน้าที่ พัฒนาวิชาการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตชุมชน ถ่ายทอดลงสู่สถานบริการสาธารณสุขในเขตสุขภาพที่ 8 ซึ่งมี 7 จังหวัดได้แก่ อุดรธานี เลย หนองบัวลำภู สกลนคร หนองคาย บึงกาฬ นครพนม ประชากรประมาณ 5 ล้านคน

 

        นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรืองกล่าวว่า จากการติดตามผลการดำเนิงานของศุนย์สุขภาพจิตที่ 8 พบว่า งานในด้านการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตชุมชน ที่เน้นครอบคลุม 5 กลุ่มวัย คือเด็กปฐมวัย วัยเรียน วัยรุ่น วัยแรงงาน และสูงอายุ ได้บูรณาการลงสู่ระดับเขตสุขภาพและระดับอำเภอทุกจังหวัด ผ่านกลไกจัดการในตำบลจัดการสุขภาพ โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และอสม.เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเป็นแกนหลัก ขณะนี้ดำเนินการครอบคลุมในแง่ของพื้นที่ แต่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดการ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ลงสู่เจ้าหน้าที่ เช่นการตรวจคัดกรองเด็กปฐมวัย ให้ครบทุกคน และติดตามพัฒนาการเด็กที่มีปัญหาสงสัยล่าช้าซึ่งพบร้อยละ 11 ให้ครบทั้ง 100 เปอร์เซนต์ ซึ่งจะทำให้ค่าเฉลี่ยไอคิวเด็กไทยสูงขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือมากกว่า 100 จุด และระดับอีคิวปกติมากกว่าร้อยละ70 สำหรับการดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดสกลนครและนครพนมตั้งแต่ 29 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นมา ขณะนี้ยังติดตามเฝ้าระวังผู้ที่มีเครียดจัดและเสี่ยงเกิดอการซึมเศร้ารวม 144 คนอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่สกลนคร 128 คน ที่เหลืออยู่นครพนม

 

        สำหรับประเด็นที่ศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 ดำเนินการได้ดีและเป็นตัวอย่างแห่งแรกในประเทศ เป็นกลยุทธ์เพิ่มการเข้าถึงบริการของเด็กที่มีปัญหาทางจิตเวชหรือเจ็บป่วยทางสมองซึ่งเรียกว่าเด็กกลุ่มพิเศษ เช่นเด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้น เด็กที่มีปัญหาบกพร่องทางการเรียนรู้ เด็กพิการทางสมอง พิการทางสติปัญญา เป็นต้น โดยสนับสนุนให้เกิดชมรมผู้ปกครองเด็กพิเศษ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ ซึ่งมีน้อยไม่ถึงร้อยละ 30 เนื่องจากผู้ปกครองยังขาดความรู้และส่วนหนึ่งยังมีความเชื่อว่าเหตุที่ลูกพิการเกิดมาจากบาปกรรมที่พ่อแม่สร้างมา จึงมีความอับอาย ไม่กล้าพาลูกออกนอกบ้าน ต้องทนทุกข์ในการดูแล ซึ่งผลการสำรวจพบว่าเกือบร้อยละ 50 มีความเครียด ขณะนี้เด็กสมาธิสั้นในเขตสุขภาพที่ 8 เข้าถึงบริการเพียงร้อยละ 7 ส่วนเด็กที่เป็นออทิสติกเข้าถึงบริการร้อยละ 29

 

        การตั้งชมรมดังกล่าวทำให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจปัญหาความพิการของเด็กดีขึ้น ในปี 2560 นี้ มีผู้ปกครองเด็กเข้าร่วมชมรม 781 คน ส่วนใหญมีลูกสติปัญญาบกพร่องจากปัญหาขาดสารไอโอดีน รองลงมาคือดาวน์ ซีนโดรม ผลการดำเนินการในพื้นที่ 18 อำเภอ พบว่าได้ผลดีมาก เด็กพิเศษเข้าถึงบริการฟื้นฟูต่อเนื่อง พฤติกรรมก้าวร้าวลดลง เด็กที่มีปัญหาการพูดสามารถพูดเป็นคำได้มากขึ้น ไม่ขาดนัดหมอ มีเด็กที่ผ่านการฟื้นฟูสามารถส่งเข้ารียนในโรงเรียนศึกษาพิเศษร้อยละ 20 และเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ร้อยละ 10 ส่วนผู้ปกครองมีกำลังใจและสู้อย่างมีความหวัง หลังเข้าร่วมชมรม ความเครียดลดลงจากเดิมอยู่ในระดับมาก ก็ลดลงเหลือระดับน้อย และบางชมรมยังสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัว ซึ่งกว่าครึ่งมีฐานะยากจน เช่นทำดอกไม้จันทน์ สบู่สมุนไพร บายศรี ครอบครัวมีรายได้เพิ่ม 3-5 พันบาท ในปี2561 ได้มอบนโยบายให้ขยายผลเต็มทุกอำเภอทั้ง 7 จังหวัด เป็นต้นแบบประเทศในการสร้างความรู้และความตระหนักแก่ประชาชนในดูแลเด็กกลุ่มพิเศษทั้งหมด ทำให้เด็กที่มีปัญหาได้รับการดูแลและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

 

        ทางด้านนางสาวจุฑามาศ วรรณศิลป์ ผู้อำนวยการศุนย์สุขภาพจิตที่ 8 กล่าวว่า ในปี 2561 นี้ ศูนย์ฯได้จัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่อยูในเขตสุขภาพที่ 8 โดยเน้นเป็นพิเศษกลุ่มเด็ก 5 ประเภท ได้แก่ ครอบครัวยากจน เด็กที่เลี้ยงดูด้วยปู่ย่าตายาย ซึ่งพบมากในพื้นที่ประมาณร้อยละ 40 เนื่องจากพ่อแม่เด็กไปทำงานต่างจังหวัด รวมทั้งกลุ่มเด็กที่พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อแม่วัยรุ่น และเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งมีโอกาสมีพัฒนาการไม่สมวัย และมีไอคิวอีคิวต่ำกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดู โดยจะสนับสนุนให้เป็นชมรมผู้ปกครองเด็กเหล่านี้ และการมีส่วนร่วมของชุมชน ครอบครัว และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อให้มีไอคิวเกิน100 จุด และอีคิวปกติมากกว่าร้อยละ 70 และจัดทำโครงการบูรณาการระบบการดูแล ผู้มีปัญหาการดื่มสุราในระบบสุขภาพอำเภอซึ่งยังเป็นปัญหาที่พบมากในพื้นที่ โครงการส่งสริมสุขภาพจิตดูแลช่วยเหลือผู้ต้องขังที่ได้รับอภัยโทษ รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้ดูแลผู้ต้องขัง ในเรื่อนจำ 7 จังหวัด รวม 8 แห่ง ซึ่งผลการวัดความเครียดในปีนี้ พบว่ามีความเครียดในระดับสูงถึงร้อยละ 24

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก