ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สวัสดิการของคนพิการในสังคมไทยท่ามกลางกระแสการพัฒนา

วันที่ลงข่าว: 04/09/17

       คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: สวัสดิการของคนพิการในสังคมไทยท่ามกลางกระแสการพัฒนา

       การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป็นเป้าหมายของสำคัญของทุกประเทศทั่วโลก แนวคิดนี้ถือเป็นทิศทางการพัฒนาของโลกช่วงภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ (พ.ศ. ๒๕๕๘) ซึ่งองค์การสหประชาชาติกำหนดต่อเนื่องจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals : MDGs) ที่สิ้นสุดลงไปเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๘ โดยประเทศสมาชิกทั่วโลกกว่า ๑๑๓ ประเทศได้รับรองเอกสาร "การเปลี่ยนแปลงโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี ๒๐๓๐" (Transforming Our World : The 2030 Agenda for Sustainable Development) ถือเป็นพันธสัญญาทางการเมืองในระดับผู้นำ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกในอีก ๑๕ ปีข้างหน้าเพื่อยืนยันเจตนารมณ์การเมืองของประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหาความยากจนและขจัดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ รวมถึงรูปแบบและการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสานต่อภารกิจที่ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ ภายใต้ เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ โดยได้กำหนด ๑๗ เป้าหมาย และ ๑๖๙ เป้าประสงค์ ซึ่งครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นการกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ พัฒนาประเทศ เพื่อขจัดความยากจนความหิวโหย และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม ดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทั้งนี้ยังจัดทำเนื้อหาการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ครอบคลุมถึงคนทุกกลุ่ม โดยยึดถือหลักสำคัญว่า "No one left behind"หรือ "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการที่ SDGs มีการผนวกรวมประเด็นคนพิการไว้ใน ๗ เป้าหมาย ๘ เป้าประสงค์ และ ๑๑ ตัวชี้วัด

       ที่ผ่านมา"การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ได้มีบทบาทอย่างมากในกระแสการพัฒนาสังคมโลก และถูกนำมาใช้ในเชิงวาทกรรมทั้งนโยบายระดับประเทศจนถึงระดับองค์กร โดยประเทศไทยมีการดำเนินงานที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้กำหนดกรอบและนโยบายการพัฒนาประเทศ อาทิ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔) กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ เป็นต้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมสร้างสังคมที่เป็นสุขลดความเหลื่อมล้ำขจัดปัญหาความยากจน ส่งเสริมการเป็นเศรษฐกิจสีเขียว ตลอดจนมีการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

       คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย แต่ทว่าในการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ ในวาระเรื่องการจัดลำดับความสำคัญและแนวทาง (Roadmap) การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศได้มีมติให้การจัดลำดับความสำคัญเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ ๓๐ ลำดับแรก โดยในเป้าประสงค์เหล่านั้นมีเพียงเป้าประสงค์เดียวที่เกี่ยวข้องกับคนพิการจากทั้งหมด ๘ เป้าประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการด้วยกัน

       อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities : CRPD) เป็นอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ระหว่างประเทศที่ให้หลักประกันในสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อคนพิการอย่างเสมอภาคทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป เป็นสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติฉบับแรก ในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเน้นการขจัดอุปสรรคจากภายนอกที่เป็นสาเหตุสำคัญของความยากลำบากในการดำเนินชีวิตของคนพิการ ตลอดจนการแก้ไขความเสียเปรียบทางสังคมของคนพิการ ซึ่งก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติและขัดขวางการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นอย่างยิ่ง

       ความยากลำบากในการดำรงชีวิตของคนพิการประเภทต่างๆ มิได้เกิดจากความบกพร่องของสภาพทางกาย จิตใจ พฤติกรรม หรือสติปัญญาซึ่งเป็นเพียงเหตุให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตระดับหนึ่งเท่านั้น หากแต่เกิดจากอุปสรรคภายนอกที่สังคมเป็นผู้สร้างขึ้นทั้งสิ้น ทั้งนี้ประเทศไทยได้ให้ สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑ และมีผล บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๑ ต่อมาทำให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายด้านคนพิการในประเทศไทยอย่างมากมาย โดยบัญญัติสาระสำคัญอันเกี่ยวข้องกับสิทธิของคนพิการไว้ในกฎหมายต่างๆ อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้น อันเป็นการสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เป็นสากลสำหรับคนพิการไว้ในกฎหมายไทยที่สอดคล้องกับความในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

       การผนวกรวมประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลัก (Disability Inclusive Development : DID) ถือเป็นหลักการสำคัญที่จะสร้างหลักประกันสิทธิคนพิการให้เป็นจริงในการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการกำหนดนโยบาย โครงการ แผนงาน กิจกรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในทุกๆ ด้านให้บูรณาการประเด็นคนพิการให้อยู่กับงานพัฒนากระแสหลัก มิใช่เป็นเพียงงานพัฒนาเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรรงบประมาณต้องมีการบูรณาการงบประมาณด้านคนพิการเข้ากับงบประมาณด้านการพัฒนากระแสหลัก จะทำให้การผนวกรวมประเด็นคนพิการพัฒนาเกิดผลเป็นรูปธรรมเกิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาประเทศแบบองค์รวมเกิดสังคมบูรณาการ หรือสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (Inclusive Society) และเป็นการพัฒนากลไกการติดตามและตรวจสอบการผนวกรวมประเด็นคนพิการกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เป็นไปตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ตามหลักคิดที่สำคัญ "เราจะเดินหน้าไปด้วยกัน" และ "จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทุกคนอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

       นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ และนายกสมาคมสภา คนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ให้ข้อคิดเห็นในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังว่า คนไทยเวลาเราพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนมักจะคิดถึงคำว่า "พอ" หรือ "ไม่พอ" คำว่า "มี" หรือ "ไม่มี" แต่ไม่ได้คิดถึงว่าได้ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคมหรือไม่ เพราะ คุ้นชินกับเรื่องของคนส่วนใหญ่ ใช้เสียงของคนข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ในยุคนี้ เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาก็ต้องนึกถึงทุกคนทุกภาคส่วน ทั้งในด้านสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ หากคิดถึงแต่ว่าคนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ก็พอแล้ว ก็จะมีคนบางส่วนไม่ได้รับประโยชน์ คนเหล่านั้นต้องเสียสละอันเป็นเช่นนี้ในสังคมไทยมานาน จนก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เท่าเทียม ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม วิธีคิดแบบนี้นำไปสู่การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เป็นความล้มเหลวของการพัฒนาทำให้คนที่ไม่ได้รับประโยชน์หรือคนที่ไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์จากนโยบายต่างๆ ได้นั้น มักเป็นกลุ่มคนเดิม ไม่ว่า จะเป็นนโยบายประชานิยม นโยบายประชารัฐ นโยบายหลักหรือนโยบายรอง ถือเป็นความไม่สมบูรณ์และความไม่ยั่งยืน เพราะมีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

       ความยั่งยืนคือ "ประโยชน์สุขต้องเกิดขึ้นกับคนทั้งปวงหรือทุกคน" ที่จริงแล้วประเทศไทยมีรากฐานทางวัฒนธรรมหรือวัฒนธรรมพุทธนิกายเถรวาท เรามีคำว่า "สัพเพสัตตาสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์" แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีอุดมคติว่าคนทั้งหลายทั้งปวงเหมือนกันเท่าเทียมกัน แต่กลับถูกบดบังด้วยอีกแนวคิดที่ว่า แข่งเรือแข่งพายนั้นแข่งได้ แต่แข่งบุญวาสนานั้นแข่งยาก ทำให้หลักของสัพเพสัตตาหายไป นี่แหละคือความไม่ยั่งยืน คนที่ได้ก็ได้และได้เปรียบ คนที่ไม่ได้ก็ไม่ได้และเสียเปรียบ

       ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) และธนาคารโลก (World Bank) ได้ร่วมกันจัดทำรายงานโลกเกี่ยวกับ ความพิการ (World Report On Disability ๒๐๑๑) โดยในรายงานได้ประมาณ การว่ามีคนพิการอยู่ถึง ๑ พันล้านคน คิดเป็น ๑๕% จากจำนวนประชากรโลก ทั้งหมด (๗ พันล้านคน) และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นพร้อมยังระบุว่ากลุ่ม คนพิการเป็นกลุ่มที่เปราะบางและเสียเปรียบมากที่สุดในทุกมิติของการพัฒนา เป็นคนที่ถูกทอดทิ้งมากที่สุด ประกอบกับที่ผ่านมาคนพิการมักถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้รับการช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ ไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนา ไม่ได้เป็นผู้ที่เป็นองค์ประกอบและมีส่วนร่วมในการพัฒนา ดังที่สะท้อนให้เห็นจากการที่เป้าหมายแห่งการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) ไม่มีระบุเรื่องคนพิการไว้แม้แต่คำเดียว ทั้งที่ UN ได้ประกาศปีคนพิการสากล ค.ศ. ๑๙๘๑ และมีทศวรรษคนพิการในปี ค.ศ. ๑๙๘๐ เอเชีย-แปซิฟิกมีทศวรรษคนพิการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๙๙๐ เพราะฉะนั้น เลยมีคำพูดว่า "การพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งหลายนั้นให้นำคนพิการ เป็นที่ตั้ง เป็นตัวชี้วัด" เพราะหากเราสามารถที่จะผนวกรวมกลุ่มคนที่ถูกทิ้งซ้ำซากไว้ในการพัฒนากระแสหลักได้ ก็แสดงว่าคนอื่นๆ จะไม่มีใครถูกทอดทิ้ง จึงเป็นที่มาของคำว่า "Disability Inclusive Development: DID" คือการพัฒนาที่บูรณาการหรือที่ผนวกรวมคนพิการเข้าไปด้วย หรือการพัฒนาที่ไม่ทอดทิ้งใคร อันจะทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้รับประโยชน์เป็นการพัฒนาที่สร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

       การผลักดันเรื่อง Disability Inclusive Development จะต้อง สะท้อนออกมาในงบประมาณและแผนงานกิจกรรมในทุกกระทรวงประเทศไทย ต้องเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรทั้งด้านนโยบาย กระบวนการ และผลลัพธ์ที่จะทำให้คนที่ถูกทอดทิ้งซ้ำซากสามารถเข้าถึงนโยบายนั้นได้ ซึ่งจากการติดตามดูจากงบประมาณประจำปีของแต่ละกระทรวงที่ผ่านมา ถนนทุกสายยังมุ่งไปที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในขณะที่กระทรวงอื่น จะทำโครงการเฉพาะคนพิการเนื่องจากการกำหนดนโยบายภาพรวมของแต่ละกระทรวงมักจะคิดถึงเฉพาะเรื่องของตนเองเป็นหลักมักจะไม่ได้หลอมรวมประเด็นของคนพิการเข้าไว้ด้วย มักจะไม่ได้คำนึงถึงเรื่องของคนพิการ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ไม่ได้มีการบูรณาการของคนพิการเข้าไปร่วมด้วยแต่อย่างใด ถึงแม้ว่ากลุ่มคนพิการในภาคเกษตรกรรมจะมีอยู่จำนวนมาก ในขณะที่นโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีความพยายามบูรณาการเรื่องคนพิการเข้ากับนโยบายกระแสหลักในการให้บริการด้านสุขภาพ แม้ในทางปฏิบัติจะยังมีการแยกส่วนอยู่บ้าง หรือในด้านการจัดการศึกษาของประเทศไทย แม้จะไม่ Inclusive แต่ก็ถือว่าเป็นผู้นำในอาเซียนได้เลยทีเดียว ถือเป็นต้นทางนำไปสู่ Inclusive ให้คนพิการได้รับการนำเข้าไปในระบบการศึกษา

       หนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals:SDGs)เป้าหมายที่ ๑๗.๑๘ (SDGs Goal ๑๗.๑๘ "By ๒๐๒๐, enhance capacity-building support to developing countries, including for least developed countries and small island developing States, to increase significantly the availability of high-quality, timely and reliable data disaggregated by income, gender, age, race, ethnicity, migratory status, disability, geographic location and other characteristics relevant in national contexts) คือจะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลและสถิติโดยจำแนกกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาให้รวมถึงกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งอยู่เป็นประจำ เช่น คนชาติพันธุ์ หรือคนพิการ เพื่อเตือนไว้เสมอว่าต้องให้คนเหล่านี้ได้รับประโยชน์ด้วยตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งในกระบวนการความคิด วางแผน ไปจนถึงการปฏิบัติ ข้อมูลเชิงประจักษ์เหล่านี้จะทำให้เห็นถึงการพัฒนาที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ ข้างหลังเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น โดยประเทศไทยควรนำแนวคิดเรื่องการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลและสถิติของ SDGs มาเป็นต้นแบบ เพราะสถิติเป็นข้อมูลที่แท้จริงที่จะพิสูจน์นโยบายต่างๆ ว่าเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวสามารถที่จะประยุกต์กับกลุ่มอื่นได้ด้วย จึงจะต้องมีการสำรวจ เก็บข้อมูล หาตัวชี้วัด โดยต้องไม่ถอดทิ้งกลุ่มคนเหล่านั้นทั้งนี้ ใน SDGs ยังมีการอ้างอิง ถึงคนพิการหรือความพิการโดยตรงใน ๗ เป้าหมาย ๘ เป้าประสงค์ และ ๑๑ ตัว ชี้วัดด้วยกันนอกจากนี้ยังมีถ้อยคำหรือตัวชี้วัดหลายแห่งที่มีนัยถึงคนพิการในทางอ้อม อนึ่ง อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities: CRPD) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ขององค์การสหประชาชาติฉบับแรกในศตวรรษที่ ๒๑ "คำว่าสิทธิมนุษยชนนั้น ไม่มีการแบ่งแยก ทุกคนจะต้องเท่าเทียมกัน"ได้ระบุว่าการบูรณาการเรื่องคนพิการเข้าสู่การพัฒนาหรือนโยบายกระแสหลักนั้นเป็น "สิทธิ" โดยปรากฏใน CRPD ข้อที่ ๓๒ (CRPD ข้อที่ ๓๒ ความร่วมมือระหว่างประเทศ "๑.รัฐภาคียอมรับถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศและการส่งเสริมความร่วมมือเช่นว่านั้น เพื่อสนับสนุนให้ความพยายามระดับประเทศบรรลุความมุ่งประสงค์และวัตถุประสงค์ของอนุสัญญานี้ได้จริง และจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลในเรื่องนี้ ระหว่างและในหมู่รัฐ และหากเหมาะสม ในลักษณะเป็นหุ้นส่วนกับองค์การระหว่างประเทศและภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์การของคนพิการ") ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศที่กำหนดให้รัฐ ต้องประกันว่าคนพิการจะต้องสามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ โดยอาศัยความ ร่วมมือระหว่างประเทศหรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

       ในวิธีคิดของกระผมนั้น ตัวชี้วัดของ Disability Inclusive Development แบ่งเป็นสามอย่างได้แก่ ๑.การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เท่าเทียม และมีประสิทธิผล (Full and Effective Participation) ๒.การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริง (Accessibility) ๓.การเสริมพลังอำนาจให้คนเหล่านั้นเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มศักยภาพ(Empowerment) โดยจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ตัวนี้จะเป็นตัวชี้วัดการเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงกล่าวคือ คนพิการ จะต้องมีทั้งบทบาทหน้าที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนากระแสหลักโดยต้องมีส่วนร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมทำและร่วมรับผิดชอบ

       คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้พิจารณาและตระหนักถึงความสำคัญของการผนวกรวมประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลัก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลภายใต้นโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ และเป็นการสร้างกลไกสำคัญในการติดตาม ตรวจสอบการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ จึงกำหนดจัดการสัมมนา เรื่อง "การบรรลุเป้าหมายการผนวกรวมประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลัก โดยอาศัยตัวชี้วัดใน SDGs : จากวาทกรรมสู่เม็ดเงิน" กำหนดการ มีดังนี้

       ๑.การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "Disability Inclusive Development : DID ในมิติ ของการพัฒนาระดับนานาชาติและระดับภูมิภาค" โดย Ms. Aiko Akiyama, Social Affairs Officer, Social Development Division, United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (UNESCAP)

       ๒.การอภิปราย เรื่อง "การบรรลุเป้าหมายการผนวกรวมประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลัก โดยอาศัยตัวชี้วัดใน SDGs : จากวาทกรรมสู่เม็ดเงิน" โดยวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ คือ นางสาววรวรรณ พลิคามิน ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ หรือผู้แทน และ ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

       สาระบางส่วนข้างต้นเป็นเพียงการเกริ่นเรื่อง ดังนั้นหากท่านประสงค์จะได้สาระอย่างเต็มที่ ขอเรียนเชิญเข้าร่วมการสัมมนาในวันจันทร์ที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุม คณะกรรมาธิการ หมายเลข ๓๐๖ - ๓๐๗ ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา ๒

       ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โทร.๐๒-๘๓๑๙๒๒๕-๖ โทรสาร ๐๒-๘๓๑๙๒๒๖

 

ที่มาของข่าว www.ryt9.com
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก