ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

IRPC ชูพลาสติกพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยเดิน

วันที่ลงข่าว: 31/08/17

       ไออาร์พีซี  ผนึกถาบันสิรินธรฯ - ม.ศรีปทุม พัฒนาต้นแบบ “ชุดหุ่นยนต์ช่วยเดิน” หวังสร้างโอกาสให้คนพิการอัมพาตครึ่งล่างได้ใช้ประโยชน์และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นในอนาคต ด้วยการพัฒนาเม็ดพลาสติกชนิด UHMWPE ที่มีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเบา

        นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC)  เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ “โครงการพัฒนาชุดหุ่นยนต์ช่วยเดิน สำหรับคนพิการอัมพาตครึ่งล่าง” เพื่อต่อยอดสู่การผลิต ในเชิงอุตสาหกรรม สร้างโอกาสให้ผู้พิการได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง 

 

        “ปัจจุบันความพิการทางการเคลื่อนไหวถือว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งหุ่นยนต์ช่วยเดินจะเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่จะมาช่วยบรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากต้นแบบหุ่นยนต์ช่วยเดินในปัจจุบัน ชุดขับเคลื่อนมีขนาดใหญ่ โครงสร้างทำจากอลูมิเนียม ทำให้มีน้ำหนักมากถึง  25 กิโลกรัม ประกอบกับแบตเตอรี่ใช้งานสั้น ไม่เกิน 3 ชั่วโมง ล้วนเป็นอุปสรรคให้ผู้พิการไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้  หากการวิจัยและพัฒนาสำเร็จ และต่อยอดไปสู่การผลิต  เชิงอุตสาหกรรม ก็จะช่วยให้กลุ่มผู้พิการได้ใช้ประโยชน์และเข้าถึงนวัตกรรมหุ่นยนต์นี้มากขึ้น” 

 

        ทั้งนี้ IRPC ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกชนิด UHMWPE (Ultra high molecular weight Polyethylene) ด้วยคุณสมบัติของเม็ดพลาสติกที่มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ ทนทานต่อการสึกกร่อนเสียดสี รองรับแรงกระแทกได้ดี และน้ำหนักเบา  จึงสามารถนำไปผลิตทดแทนชิ้นส่วนเดิมของหุ่นยนต์ช่วยเดินได้

       บริษัทฯ มีแนวคิดในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม โดยมุ่งเน้นในการพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์   ที่หลากหลาย เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้ “ความร่วมมือในครั้งนี้ นับว่าเป็นความท้าทายของการ ได้เรียนรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันในทางด้านสาธารณสุข สถาบันการศึกษาและสังคม เพื่อให้คนพิการ ได้รับโอกาสที่เท่าเทียม ในการเข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ควบคู่ไปกับนวัตกรรมทางการศึกษา และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมสอดรับกับการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ยุคแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะมาช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น”

 

       ด้านนายแพทย์ธีรพล  โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  “สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ในฐานะศูนย์วิชาการและศูนย์บริการเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู  จะช่วยในเรื่องการประเมินการทดสอบ “หุ่นยนต์ช่วยเดิน” ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้กับผู้ทุพพลภาพให้มีความปลอดภัยกับผู้ใช้งาน โดยพิจารณาตามหลักการทางชีวกลศาสตร์ ซึ่งนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยเดิน นอกจากมุ่งเน้นการส่งเสริมศักยภาพของคนพิการช่วงล่างให้สามารถเคลื่อนไหวและพึ่งพาตนเองได้แล้ว ยังสามารถนำไปใช้สำหรับช่วยเพิ่มการทรงตัวและความมั่นคงในขณะเดิน เป็นการฝึกทักษะการเคลื่อนไหว       เรื่องการเดิน และสามารถนำต้นแบบไปพัฒนาต่อยอดในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยบาดเจ็บสันหลัง ผู้ป่วยเด็กสมองพิการ และผู้ป่วยพาร์กินสัน ซึ่งถือเป็น “นวัตกรรมเพื่อการเข้าถึงของคนทั้งมวลอีกด้วย”

 

       ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า “ต้นแบบของนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยเดินสำหรับคนพิการอัมพาตครึ่งล่างนี้  เกิดจากการคิดค้นของทีมอาจารย์และนักศึกษา กลุ่มระบบหุ่นยนต์และการควบคุมอัตโนมัติ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็คโทรนิคส์ประยุกต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมการออกแบบที่สามารถใช้งานได้จริง ตรงตามมาตรฐานทางการแพทย์  โดยได้รับรางวัลชนะเลิศระดับชาติ ในการแข่งขันประกวดหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติเพื่อกระบวนการผลิต ปี 2557 (หรือ RACMP 2014) และรางวัลชนะเลิศ นักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ในวันนักประดิษฐ์แห่งชาติ ปี 2558 ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตลอดจนรางวัลในระดับนานาชาติ Honorable Mention Award  และ Leading Innovation Award จาก Taipei International Invention Show & Techmart 2015 ณ ประเทศไต้หวัน”

 

        “นวัตกรรมนี้เกิดจากแรงบันดาลใจของทีมในการช่วยคนพิการอัมพาตครึ่งล่างให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดภาระการพึ่งพา ช่วยให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง โดยอาศัยกลไกการทำงานของหุ่นยนต์อัตโนมัติ ที่ไม่ซับซ้อนมาก ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจที่ต้นแบบของนวัตกรรม จะถูกนำไปต่อยอดวิจัยและพัฒนาให้ดีขึ้น สร้างประโยชน์ต่อสังคม และผู้พิการได้มีโอกาสเข้าถึงนวัตกรรมมากขึ้นในอนาคต” เป็นไปตามเป้าหมายของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีปทุม ในการผลิตบุคลากรที่มีบทบาทความสามารถ และผลงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 30 สิงหาคม 2560
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก