ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“ไม้ไฑ ดะห์ลัน” นิสิตวิศวกรรมเครื่องกลจุฬาฯสานฝันพัฒนาหุ่นยนต์

วันที่ลงข่าว: 28/08/17

        หนทางสู่ความสำเร็จในชีวิตเกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานอย่างเต็มที่พร้อมพัฒนาตนเองให้ก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ “ไม้ไฑ ดะห์ลัน” นิสิตปริญญาโทภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็เช่นกัน  นิสิตคนเก่งคนนี้เป็นผู้สร้างชื่อเสียงและนำความภาคภูมิใจมาสู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 8 (RDC 2015)  ได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2559 แล้ว ไม้ไฑเป็นหนึ่งในบัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในวันที่ 29 กันยายนนี้

         

        ไม้ไฑ (น้องไม้) เล่าถึงประสบการณ์ประทับใจเมื่อ 2 ปีที่แล้วซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ RDC 2015 ที่จัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า  การแข่งขันครั้งนั้นโจทย์ที่กำหนดให้คือ “หุ่นยนต์สร้างเมือง” โดยให้หุ่นยนต์คีบกล่องโฟมขึ้นไปเรียงต่อกันเป็นชั้นๆให้ได้สูงที่สุด ไม้ไฑและเพื่อนๆ ในทีมอีก 4 คนในทีม SOIL ซึ่งมาจากต่างมหาวิทยาลัย สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ RoBoCon International Design Contest 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์ ร่วมกับสมาชิกในทีมที่มาจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น อียิปต์  โดยเป็นการแข่งขันสร้างหุ่นยนต์ตามโจทย์ใหม่คือหุ่นยนต์เก็บขยะอวกาศ แต่ละทีมได้พัฒนาหุ่นยนต์ในรูปแบบต่างๆเพื่อคีบ     ลูกบอลด้วยวิธีที่หลากหลายให้ได้ลูกบอลมากที่สุด  แม้ในการแข่งขันครั้งนั้นจะไม่ได้รางวัลใดๆ  สิ่งที่ตนได้รับคือประสบการณ์อันยิ่งใหญ่และคุ้มค่าจากการได้ทำงานพัฒนาหุ่นยนต์

          

        “การแข่งขันหุ่นยนต์ RDC ระดับประเทศไทย เป็นการแข่งขันสร้างหุ่นยนต์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี  เวทีนี้เปิดกว้างให้นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีไม่จำกัดคณะเข้าร่วมการแข่งขัน ส่วนใหญ่เป็นนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ รูปแบบการแข่งขันเป็นการแข่งแบบพบกันหมด  โดยสมาชิกในแต่ละทีมมาจากต่างสถาบันการศึกษา เป็นการฝึกการทำงานเป็นทีมและการสื่อสารสร้างความเข้าใจในการประสานงานร่วมกัน  นอกจากนี้ยังได้เพื่อนใหม่และได้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสร้างต้นแบบนวัตกรรมอีกด้วย อยากชวนเพื่อนๆที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้เพราะเป็นประสบการณ์ที่มีค่าและหาได้ยากจากการแข่งขันรายการอื่นๆ”

         

         จากนิสิตปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งผ่านประสบการณ์ในเวทีการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ  ไม้ไฑเลือกศึกษาต่อปริญญาโทในสาขาเดียวกัน  โดยให้เหตุผลว่าการเรียนในสาขาวิศวกรรมเครื่องกลทำให้ได้ความรู้กว้าง ทั้งในด้านเครื่องกล ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ ฯลฯ สามารถนำทักษะและความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการออกแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการออกแบบพัฒนาหุ่นยนต์  นอกจากการเรียนแล้ว ผลงานวิชาการของไม้ไฑยังได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารต่างประเทศและได้รับคัดเลือกเข้าร่วมการประชุมวิชาการในระดับนานาชาติ  รวมทั้งได้ไปฝึกงานและร่วมทำงานวิจัยเรื่อง “ถุงมือแปลภาษาสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน” ที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

             

        “หลักในการทำงาน จะตั้งใจทำทุกๆ งานอย่างเต็มที่ หากมีข้อสงสัยจะสอบถามอาจารย์ทันทีเพื่อจะได้เรียนรู้และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น” ไม้ไฑ กล่าวในที่สุด

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 26 สิงหาคม 2560
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก