ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ศูนย์ศึกษาพิเศษจังหวัดนครศรีธรรมราช ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อจัดการศึกษา เพื่อการมีอาชีพของครอบครัวผู้พิการแบบยั่งยืน

วันที่ลงข่าว: 18/08/17

        วันที่ 18 สิงหาคม 2560 ณ ห้องประชุมศรีปราชญ์ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช นายดนัย เจียมวิเศษสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำปี 2560 โดยมีคณะอนุกรรมการชุดใหม่จากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งเนื่องจากคณะอนุกรรมการชุดเดิมได้ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี เข้าร่วมประชุม โดยในคำสั่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานอนุกรรมการ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นรองประธาน นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาพรุ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมะม่วงสองต้น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 12 หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นอนุกรรมการ ซึ่งอนุกรรมการชุดดังกล่าว มีบทบาทอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ และดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในจังหวัด ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ แผนพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ส่งเสริมสนับสนุนให้คนพิการในจังหวัดได้รับการศึกษาตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และเสมอภาค

        นายวัฒนชัย แสงศักดา ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช มีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษาในลักษณะศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม และเตรียมความพร้อมของคนพิการ เพื่อเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนร่วม โรงเรียนเฉพาะคนพิการ ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาการเรียนการสอนสำหรับผู้พิการ จัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อให้คนพิการได้รับการศึกษาตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมอาชีพให้แก่คนพิการและพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และครอบครัวที่ดูแลคนพิการ ให้มีอาชีพ มีรายได้ในการดูแลคนพิการแบบยั่งยืนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในอนาคต

ปัจจุบันศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช มีหน่วยบริการครบทั้ง 23 หน่วย มีนักเรียนพิการที่รับบริการในศูนย์การศึกษาพิเศษและรับบริการที่บ้านที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด จำนวน 477 คน ซึ่งแยกประเภทความพิการทั้งบุคคลที่มีความพกพร่องทางการเห็น , การได้ยิน , ทางสติปัญญา , ทางร่างการหรือสุขภาพหรือการเคลื่อนไหว , ทางการเรียนรู้ , ทางการพูดและภาษา , ทางพฤติกรรม และอารมณ์ , บุคคลออทิสติก และพิการซ้อน โดยจากผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ผลการประเมินคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของศูนย์การศึกษาพิเศษ ปีการศึกษา 2559 กระบวนการบริหารและการจัดการของผู้บริหารสถานศึกษา , กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ระดับคุณภาพผ่านดีเยี่ยม 5 ปี ที่ผ่านมาไม่มีผู้ร้องเรียนที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ และระบบการประกันคุณภาพภายในที่มีประสิทธิผลในภาพรวมดีเยี่ยม

        นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ยังได้เห็นความสำคัญในการช่วยเหลือผู้พิการและครอบครัว จึงได้จัดโครงการในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา เพื่อการมีอาชีพของครอบครัวผู้พิการแบบยั่งยืนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ผู้พิการและครอบครัวสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก