ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คนหูหนวกเพิ่มขึ้น มรภ.สงขลา เร่งปั้นอาสาล่ามภาษามือไทย

วันที่ลงข่าว: 16/08/17

        สถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา เผยตัวเลขคนหูหนวกมีกว่า 4,600 คน มากเป็นอันดับ 2 รองจากผู้พิการทางการเคลื่อนไหว เร่งปั้นอาสาสมัครล่ามภาษามือไทย เป็นสื่อกลางเข้าถึงบริการภาครัฐ หวังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้น            

        ดร.โสภณ ชัยวัฒนกุลวานิช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการอบรมภาษามือไทยขั้นพื้นฐานเพื่อการสื่อสาร ระหว่างวันที่ 18-22 ส.ค.นี้ ที่ โรงแรมบีพีสมิหลา อ.เมืองสงขลา ว่า จากข้อมูลจดทะเบียนคนพิการ จ.สงขลา พบว่ามีผู้พิการทางการได้ยินรวมกว่า 4,600 คน มากเป็นอันดับ 2 รองจากผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ขาดโอกาสในการส่งเสริมและพัฒนาพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งทางด้านการศึกษา สังคม การแพทย์และอาชีพ เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้วค่อนข้างจำกัดและมีน้อยกว่าคนพิการประเภทอื่นๆ ซึ่งเกิดจากไม่สามารถสื่อสารด้วยการได้ยินและพูดภาษาไทย อันเป็นวิธีการสื่อสารที่ใช้กันในสังคมคนทั่วไป ทั้งนี้ คนหูหนวกจำเป็นต้องสื่อสารด้วยภาษามือไทย ที่มีโครงสร้างและไวยากรณ์เป็นของตนเอง โดยมีการเปลี่ยนแปลงของคำศัพท์และพัฒนาทางภาษาตลอดเวลา เฉกเช่นเดียวกับภาษาอื่นๆ นอกจากนั้น คนส่วนใหญ่ในสังคมทั่วไปยังเข้าใจผิดว่าภาษามือเป็นภาษาสากลที่คนหูหนวกทุกชาติทั่วโลกสามารถใช้สื่อสารกันได้ แต่ในความเป็นจริงคนหูหนวกแต่ละชาติจะมีภาษามือและวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ แตกต่างกัน เช่น ภาษามือไทย ภาษามือญี่ปุ่น ภาษามืออเมริกัน เป็นต้น

         ดร.โสภณ กล่าวว่า คนหูหนวกดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้บริการของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ โรงพยาบาล สถานศึกษา โรงพัก ซึ่งจำเป็นต้องมีล่ามภาษามือช่วยในการสื่อสาร แต่ปัจจุบันล่ามภาษามือมีไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง สถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา จึงได้จัดอบรมภาษามือไทยขั้นพื้นฐานเพื่อการสื่อสารขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้คนทั่วไปมีความรู้ความสามารถทางภาษามือไทย ในการช่วยให้คนหูหนวกเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และบริการสาธารณะต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนได้อย่างกว้างขวาง ตลอดจนส่งเสริมให้คนทั่วไปมีเจตคติที่ถูกต้องต่อภาษามือไทยและคนหูหนวก มีโอกาสพัฒนาศักยภาพตนเอง ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนหูหนวกให้ดียิ่งขึ้น

        ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าอบรม จำนวน 60 คน ประกอบด้วย อาสาสมัครดูแลคนพิการ บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น สถานีตำรวจ ศาล โรงพยาบาล สถานีอนามัย กศน. โรงเรียนโสตศึกษา จ.สงขลา โรงเรียนเรียนร่วม สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) สำนักงานจัดหางาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจ ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมเป็นอาสาล่ามภาษามือไทยเหล่านี้ จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยให้คนหูหนวกสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการสาธารณะต่างๆ ของภาครัฐได้อย่างกว้างขวาง ทั่วถึง

       “คนหูหนวกต้องสื่อสารด้วยภาษามือ ซึ่งถือเป็นภาษาแรกหรือภาษาแม่ โดยใช้ภาษามือไทยเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร การเรียนรู้ การรับรู้ และแสดงความรู้สึกนึกคิด ดังนั้น ภาษามือไทยจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มนี้ แต่ด้วยข้อจำกัดบางประการทำให้ไม่สามารถเรียนในสถานศึกษาของคนทั่วไปที่สื่อสารด้วยภาษาไทย ที่ใช้ทั้งการฟังและพูดได้ จึงต้องเรียนในโรงเรียนเฉพาะ ซึ่งใช้วิธีการสื่อสารด้วยภาษามือ เมื่อคนหูหนวกไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาหรือได้รับการศึกษาน้อย เป็นเหตุให้ไม่สามารถประกอบอาชีพและพึ่งพาตนเองได้”  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา กล่าว

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 13 สิงหาคม 2560
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก