ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่ออนาคตของประเทศไทยในระยะ 20 ปี ระดับภาคใต้ ที่นครศรีธรรมราช

วันที่ลงข่าว: 03/08/17

        พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาและรับฟังความคิดเห็น ภายในคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่ออนาคตของประเทศไทย ในระยะ 20 ปี ระดับภาค ภาคใต้ โดยมีภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน กลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม เช่น ผู้พิการเข้าร่วมประชุมเสนอแนะข้อคิดเห็นต่ออนาคตของประเทศไทยในระยะ 20 ปีข้างหน้า จากจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ เข้าร่วมกว่า 500 คน ที่โรงแรมทวินโลตัส อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

       พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาและรับฟังความคิดเห็น ภายในคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดว่ารัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน เพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว เป็นเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดขึ้น และใช้เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ซึ่งขณะนี้ พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากที่ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 รัฐบาลได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว พร้อมทั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 โดยการดำเนินการก่อนที่พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะมีผลบังคับใช้ ได้มีการยกร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อให้ร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ มีความชัดเจน และเกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางขึ้น คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาและรับฟังความคิดเห็น จึงได้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะภายใต้หัวข้อการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่ออนาคตของประเทศไทย ในระยะ 20 ปี โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะฯ ในระดับ 4 ภาคทั่วประเทศ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาในภูมิภาคต่างๆ มาร่วมเป็นวิทยากรในการระดมความคิดเห็นร่วมกัน

        ทั้งนี้ การระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ มุ่งเน้นการแสดงความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ต่อเป้าหมายแนวทางการดำเนินงาน เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง เป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยครอบคลุมประเด็นสำคัญ 6 ด้าน คือ ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยที่ผ่านมาการรับฟังความคิดเห็นทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมทุกภาค มีการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอย่างกว้างขวาง สะท้อนมุมมองจากตัวแทนของกลุ่มบุคคลต่างๆ ในสังคมที่มีความหลากหลายและน่าสนใจผ่านกระบวนการและเทคนิคการระดมความคิดเห็นที่เป็นกลาง

        สำหรับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในภาคใต้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในวันนี้ เป็นครั้งสุดท้าย มีกลุ่มบุคคลให้ความสนใจเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย โดยตัวแทนภาคประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และอยากเห็นอนาคตประเทศไทย 20 ปีข้างหน้าอยากให้มีการพัฒนาไปสู่ความมั่นคงทางการเมืองที่ชัดเจน ขณะที่ผู้แทนจากสื่อมวลชนในพื้นที่ อยากเห็นความมั่นคงทางด้านสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาการบุกรุกป่าชายเลน การจัดการเรื่องขยะ ความมั่นคงทางด้านอาหาร ความมั่นคงทางด้านแรงงาน รวมถึงยุทธศาสตร์ด้านคุณภาพชีวิตการให้บริการด้านสุขภาพของประชาชน

       ทั้งนี้ ในระยะต่อไป หลังจากประมวลประเด็นความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเวทีทั้ง 4 ภาค เสนอต่อคณะอนุกรรมการบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และรัฐบาลจะนำร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติที่มีการปรับปรุง รวมทั้งความเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนี้ เสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติฯ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามกระบวนการและขั้นตอนที่กฎหมายกำหดไว้ และจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในวงกว้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก