ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เปิดโลกการเรียนรู้ศิลปะ สำหรับนักเรียนตาพิการ

วันที่ลงข่าว: 01/08/17

       โครงการการออกแบบสื่อเพื่อการจัดการเรียนรู้วิชาศิลปะ (ทัศนศิลป์) เปิดโลกให้ผู้พิการทางสายตา สัมผัสผลงานศิลปิน ช่วยกระตุ้นความสนใจในการเรียนวิชาศิลปะแก่นักเรียนตาบอดได้เป็นอย่างดี แม้จะจดจำเนื้อหาการเรียนทฤษฎีในวิชาศิลปะ ซึ่งเป็นการบรรยายในชั้นเรียน เหมือนกับการเรียนการสอนแบบคนปกติ แต่ผู้พิการทางสายก็อาจจะไม่เข้าใจลึกซึ้ง

       นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญให้เกิดการคิดค้น ชุดโครงการการออกแบบสื่อ เพื่อการจัดการเรียนรู้วิชาศิลปะ (ทัศนศิลป์) สำหรับนักเรียนผู้ดวงตาพิการระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายชุมชนและสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อออกแบบสื่อ อุปกรณ์และแผนการเรียนที่เหมาะสมแก่ผู้พิการทางสายตา อีกทั้งยังได้รับรางวัลผลงานดีเด่นจาก สกว.อีกด้วย

       ผศ.ดร.สัญชัย สันติเวส หัวหน้าโครงการการออกแบบสื่อเพื่อการจัดการเรียนรู้วิชาศิลปะ (ทัศนศิลป์) กล่าวว่า เมื่อผู้พิการทางสายตามีข้อจำกัดกับการบรรยายในชั้นเรียนปกติ สื่อการเรียนการสอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทว่าสื่อการสอนเหล่านั้นกลับไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่าง ครอบคลุม ยกตัวอย่าง รูปปั้น ใช้สัมผัสรับรู้รูปทรงได้ แต่รับรู้ภาพวาดไม่ได้ หรือรับรู้เพียงพื้นผิวเท่านั้น หากต้องการให้สัมผัสและเข้าใจภาพวาด ก็ต้องสร้างภาพวาดให้เป็นหุ่นนูนต่ำ จึงเป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้ และอีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ การที่นักเรียนผู้ดวงตาพิการได้สัมผัสผลงานศิลปินที่มีชื่อเสียง จะช่วยกระตุ้นความสนใจในการเรียนวิชาศิลปะแก่นักเรียนตาบอดได้เป็นอย่างดี

       “สื่อการเรียนรู้เพื่อผู้ดวงตาพิการได้มีการคิดค้นและพัฒนาต่อเนื่อง แต่ไม่ค่อยเน้นวิชาศิลปะ อีกทั้งยังขาดงบประมาณ ขาดการออกแบบที่เหมาะสมอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ดวงตาพิการได้เรียนรู้วิชาศิลปะ อันก่อให้เกิดพัฒนาการ และการเจริญเติบโตในด้านต่าง ๆ”

       นักเรียนผู้ดวงตาพิการและครูผู้สอน ระบุว่า กิจกรรมศิลปะไม่ได้มุ่งเน้นเพื่อพัฒนาการเรียนรู้สำหรับนักเรียนเหล่านี้อย่างจริงจัง เป็นเพียงเพื่อสันทนาการและแสดงออกสู่สังคมเท่านั้น ยังไม่มีการวิจัยวิธีการเรียนรู้ศิลปะ ทำให้นักเรียนตาบอดเกิดความเบื่อหน่ายและท้อแท้ในการเข้าร่วมกิจกรรม ผลที่ได้รับไม่ก่อให้เกิดความสุข และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่วิชาศิลปะพึงมี ได้แก่ อารมณ์ สติปัญญา ร่างกาย ประสาทสัมผัส สุนทรียภาพ และความคิดสร้างสรรค์ ปัญหานี้จึงกลายมาเป็นโจทย์ใหญ่ให้ทีมวิจัยออกแบบสื่อการเรียนรู้วิชาศิลปะ (ทัศนศิลป์) สำหรับนักเรียนผู้ดวงตาพิการ ระดับมัธยมปลาย ให้เรียนรู้วิชาศิลปะ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ การสร้างคู่มือ การสอนต้นแบบ สำหรับครู โดยออกแบบและเปรียบเทียบกับสื่อการเรียนรู้เดิมว่าแตกต่างกันอย่างไร

       โดยในภาคทฤษฎี ได้แก่ ประวัติศาสตร์ศิลป์ สุนทรียศาสตร์ และศิลปวิจารณ์ ส่วนภาคปฏิบัติ ได้แก่ วาดภาพระบายสีโดยใช้ระดับเสียงบนคอมพิวเตอร์ ปั้นดินน้ำมัน และอื่น ๆ ที่หลากหลาย เป็นกิจกรรมแบบเรียนร่วมกันทั้งนักเรียนผู้ดวงตาพิการและที่มองเห็น ซึ่งมีวิธีดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพแบบกรณีศึกษาและประยุกต์การวิจัยนี้เสนอแนวทางเพื่อช่วยนักเรียนพิการทางสายตาให้เรียนวิชาทัศนศิลป์ได้เช่นเดียวกับเด็กที่มองเห็น เพื่อสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ในวิชาศิลปะแก่นักเรียนตาบอดทั้งที่เรียนร่วมและไม่ได้เรียนร่วมกับนักเรียนที่มองเห็น ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกโรงเรียน

       งานวิจัยชิ้นนี้ จึงเปรียบเสมือนดวงไฟที่มอบแสงสว่างให้แก่นักเรียนผู้ดวงตาพิการอย่างที่พวกเขาไม่เคยได้รับมาก่อน แม้แสงสว่างดังกล่าวจะไม่อาจรับรู้ด้วยดวงตา แต่การได้สัมผัส และซาบซึ้งผลงานศิลปะนั้นรับรู้ได้ด้วยหัวใจ
 

ที่มาของข่าว www.dailynews.co.th
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก