ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

บทความ : ตะลุยเมืองแพร่ สนุกกับคาราวานวิทยาศาสตร์ ไปกับ สสวท.

วันที่ลงข่าว: 04/07/17

        วันนี้มีกิจกรรมวิทยาศาสตร์ดี ๆ ที่เพิ่งจบไปสดๆ ร้อน ๆ กับ คาราวานวิทยาศาสตร์ ที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ไปร่วมจัดคาราวานวิทยาศาสตร์ส่งตรงถึงเมืองแพร่ ณ โรงเรียนพิริยาลัย จังหวัดแพร่ เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา

        ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า “เนื่องจาก อพวช. มีนโยบายที่จะนำวิทยาศาสตร์ไปสู่ชุมชน และนักเรียน สสวท. จึงได้ร่วมกับ อพวช. จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักให้นักเรียนอยากเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และให้นักเรียนมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใกล้ตัว และเกิดความสนุกสนาน โดย สสวท. ได้นำนิทรรศการ กิจกรรม Hands-on และการประชุมปฏิบัติการ ไปให้ความรู้คู่กับความสนุกสนาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับการประชุมปฏิบัติการ ได้แก่ สนุกกับกิจกรรม GLOBE กังหันน้ำ Sprinkler รถไฟเหาะ กล้องตาเรือ Scikids Tower ลมกู้ภัย Pan Balance Pluto landing และผ้ามัดย้อม ในส่วนของกิจกรรม Hands-on มีทั้งหมด 7 ฐาน แต่ละกิจกรรมจะมีการสะสมแต้มเพื่อไปแลกของรางวัล”

       ตัวอย่างกิจกรรมประชุมปฏิบัติการ เช่น กิจกรรมกังหันน้ำ Sprinkler นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานของกังหันลมปั๊มน้ำสปริงเกลอร์ โดยใช้หลักการแบร์นูลลี ซึ่งบริเวณที่มวลอากาศมีการเคลื่อนที่เร็ว ความดันอากาศจะต่ำกว่าบริเวณที่มวลอากาศเคลื่อนที่ช้า ซึ่งแรงดันอากาศเหนือน้ำจะมีมากกว่าด้านบน ทำให้ดันน้ำขึ้นไปตามท่อ และออกมาบริเวณปลายท่อ บวกกับแรงเหวี่ยง จึงมีลักษณะเป็นปั๊มน้ำสปริงเกลอร์

       นายวัฒน วัฒนากูล และนางสาวกุลธิดา สะอาด ผู้จัดกิจกรรมกังหันน้ำ Sprinkler ได้กล่าวถึงผลตอบรับของผู้ร่วมกิจกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาไปจนถึงมัธยมศึกษา ว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจต่อการร่วมประดิษฐ์ชิ้นงานดังกล่าว ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นการให้นักเรียนได้เรียนรู้ว่ากังหันสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตประแสไฟฟ้าหรือการนำไปประยุกต์ใช้ในการสูบน้ำ การทำระหัดวิดน้ำ ซึ่งจริงๆ แล้วกังหันในยุคเริ่มแรกที่นำมาใช้ในประเทศไทย มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นระหัดวิดน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม เช่น กังหันลมใช้วิดน้ำทะเลเข้านาเกลือ เข้านาข้าว แต่กิจกรรมนี้เป็นการนำกังหันมาประยุกต์ใช้ในการปั๊มน้ำโดยใช้ความแตกต่างของความดันอากาศ และกิจกรรมนี้ถือว่าเป็นการจุดประกายที่จะนำเข้าสู่การเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษา (STEM Education)

        นางสาวศิริพร เหล่าวาณิชย์ ผู้จัดกิจกรรมสนุกกับกิจกรรม GLOBE “แว่นส่องเมฆ” เล่าว่า กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับรูปร่าง สี และขนาดของเมฆ โดยการสังเกต ผ่านอุปกรณ์ที่ทำขึ้น โดยคาดว่า นักเรียนสามารถสังเกตและบอกรูปร่าง สี ขนาดของเมฆที่พบในชีวิตประจำวันได้ ในกิจกรรมจะให้นักเรียนจะได้ลงมือทำอุปกรณ์สำหรับศึกษาเรื่องเมฆ โดยทำเป็นแว่นสำหรับดูเมฆ มีลักษณะเป็นช่องตรงกลาง ล้อมรอบด้วยภาพเมฆ และข้อมูลที่บอกลักษณะของเมฆแต่ละชนิด ผลการตอบรับจากเด็กและครูที่เข้าร่วมกิจกรรม พบว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถลงมือทำ และใช้อุปกรณ์ในการสังเกตเมฆ

        นายภาณุกูล คำเหลือง ครูพี่เลี้ยงเด็กพิการและครูสอนภาษาอังกฤษโรงเรียนบ้านร้องกวาง (จันทิมาคม) อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ซึ่งได้พานักเรียนชั้น ป.3 ป. 4 มาร่วมงานคาราวานวิทยาศาสตร์ และร่วมกิจกรรมแว่นส่องเมฆนี้ด้วย กล่าวว่า กิจกรรมนี้ช่วยให้เราสามารถดูว่าวันนี้ฝนตก หรือไม่ตกได้จากก้อนเมฆ เพราะว่าหากท้องฟ้าสดใส เมฆไม่เยอะ ทำให้เราพอจะรู้ว่าฝนไม่ตก ถ้าตอนเช้าเมฆเยอะ แล้วมีความมืดครึ้ม เด็ก ๆ จะได้เตรียมตัวนำเอาเสื้อกันฝน ร่มมา เผื่อฝนจะตก ซึ่งเกี่ยวข้องกับบทเรียนพอดี นอกจากนั้นเด็กๆ ยังได้ออกกำลังกล้ามเนื้อมือจากการทำกิจกรรมด้วย

        มาดูความคิดเห็นของเด็กๆ ชั้น ป. 3 จากโรงเรียนบ้านร้องกวาง (จันทิมาคม) เด็กชายชัยวัฒน์ ซ่อนบุญ จังหวัดแพร่ (มอส) บอกว่า สนุก ชอบ ทำให้รู้ว่าเมื่อไหร่ฝนจะตก จากรูปร่างของเมฆ เด็กชายนิพพิชฌ์รชต คะจรรยา (ฟิล์ม) เล่าว่า แว่นส่องเมฆนี้ใช้ดูว่าเมื่อไหร่แดดจะมา เมื่อไหร่ฝนจะตก เมฆมี 3 ระดับ สนุกดีครับ ถ้ามีกิจกรรมแบบนี้อยากมาอีก และ เด็กหญิงธนัชพร ทาแก้ว (ออมแอม) บอกว่า ได้เรียนรู้ว่าเมฆที่เราดูวันนี้มีหลายแบบ เมฆที่จำได้แม่นมากก็คือเมฆฝน คือ เมฆแบบตกนิดๆ กับเมฆที่ตกแล้วมีเสียงฟ้าผ่า ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ วันนี้เมฆที่เราเจอเป็นเมฆระดับสูง ชอบเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะสนุกค่ะ

        นางนวลจันทร์ ฤทธิ์ขำ ผู้จัดกิจกรรมรถไฟเหาะ อธิบายว่า กิจกรรมนี้ใช้ความรู้เกี่ยวกับสมบัติของแม่เหล็กต่างขั้วกันจะดูดกัน และขั้วเดียวกันผลักกัน มาประดิษฐ์รถไฟที่สามารถเหาะได้ ถ้ารถไฟที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ลอยได้แล้ว ให้สามารถบรรทุกลูกแก้วได้มากที่สุดด้วย ซึ่ง สสวท. สามารถปรับกิจกรรมให้เหมาะสมกับผู้ร่วมกิจกรรม ตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาได้

        ผู้ร่วมกิจกรรมรถไฟเหาะ เด็กชายธีธัช อุปถัมภ์ (ต้นสน) เด็กชายศศิวัฒน์ ศฤงคาร (ปั๊ม) เด็กชายศุมงคล หงส์ชัย (ขิน) ชั้น ม. 2 โรงเรียนพิริยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ กล่าวว่า การได้ร่วมทำกิจกรรมรถไฟเหาะ ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับแรงของแม่เหล็ก การทำงานและประโยชน์ของแม่เหล็ก เช่น รถไฟเหาะ รถไฟความเร็วสูง หรืออาจนำไปประยุกต์ใช้ในงานอื่นๆ เช่น ใช้แม่เหล็กดูดผงตะไบเหล็กขึ้นมา ใช้แม่เหล็กทำเป็นปั้นจั่นเอาไว้ดึงเศษเหล็กขนาดใหญ่ หรือการแยกเหล็กจากสารอื่นที่ปนอยู่ ใช้ในการทำรถลอยได้โดยอาศัยแรงผลักกันของขั้วแม่เหล็ก ซึ่งที่ประเทศจีนได้มีการทดลองใช้ ในการทำถนนให้มีแม่เหล็กอยู่ด้านใต้ของถนน เข็มทิศก็ใช้แม่เหล็กซึ่งจะหันไปทางทิศเหนือตลอด นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้ความสามัคคีของเพื่อนในกลุ่ม หากเราทำคนเดียวเราอาจทำไม่สำเร็จ หลายคนช่วยกันคิดก็จะประสบความสำเร็จได้

        คุณครูสมบัติ จันทร์ศรี ครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โรงเรียนบ้านห้วยลากปืน อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ก็ได้พานักเรียนชั้น ป. 3 –ป. 6 มาร่วมกิจกรรมรถไฟเหาะเช่นกัน โดยกล่าวว่า กิจกรรมนี้ช่วยให้นักเรียนได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปทดลองใช้ เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมา

         นายปัณณวรรธ สุวรรณพงศ์ (ภูมิ) ชั้น ม. 4 โรงเรียนพิริยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ พี่เลี้ยงประจำฐานกิจกรรมของ สสวท. เล่าว่า ทางโรงเรียนให้โอกาสนักเรียนชั้น ม.ปลาย จากห้องเรียนพิเศษ เข้ามาร่วมจัดกิจกรรม ก่อนจัดกิจกรรมจะมีการเตรียมความพร้อมในการให้ความรู้และรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เช่น ถ้าน้องไม่เข้าใจ เรามีวิธีอธิบายอย่างไร บางทีน้องยังเป็นเด็กอยู่ ก็ต้องค่อยๆ อธิบาย ผมดูแลฐานลูกเต๋า ลูกเต๋า ซึ่งเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการคลี่ลูกบาศก์ ทำได้หลายแบบวิธีการ ประทับใจตรงที่มีน้องๆ หลายคนน่ารักมาก เข้ามาร่วมกิจกรรมฐาน ให้ผมรู้สึกมีกำลังใจในการทำงาน ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการพูดคุยให้ความรู้กับน้องๆ มากมาย และเมื่อผมเข้าไปร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ในฐานอื่นๆ ก็ได้รู้กระบวนการคิด ได้รู้อัลกอริทึ่มเกี่ยวกับการย้ายสิ่งของ และรู้ว่าการแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้มีแค่วิธีเดียว แต่มีวิธีการคิดและลงมือทำที่หลากหลายครับ

        ทั้งนี้ สสวท. จะมีการจัดกิจกรรมในโอกาสต่างๆ สำหรับครู นักเรียน และผู้สนใจ ได้เข้าร่วมกิจกรรมตลอด ทั้งปี ผู้สนใจสามารถติดตามได้ในเว็บไซต์ สสวท. www.ipst.ac.th หรือเฟซบุ๊ก IPST Thailand https://www.facebook.com/ipst.thai

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก