ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

แนวทางการให้บริการเก้าอี้ล้อเข็นแก่คนพิการ ประจำปี 2560

วันที่ลงข่าว: 21/06/17

บทความ : แนวทางการให้บริการเก้าอี้ล้อเข็นแก่คนพิการ ประจำปี 2560

       คนพิการทางการเคลื่อนไหวมีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทยของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พบว่าคนพิการทางการเคลื่อนไหวที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการแล้วมีจำนวนถึง 766,561 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 48.26 ของคนพิการทุกประเภท และคนพิการประเภทนี้จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือด้านอุปกรณ์เครื่องช่วย รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จึงจะสามารถดำเนินชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข
       จากข้อมูลสถิติของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่าจำนวนผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่มีความจำเป็นและต้องการใช้เก้าอี้ล้อเข็น มีมากถึง 47,000 คน ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณจัดซื้อเก้าอี้ล้อเข็น เฉลี่ยปีละ 3,000 คัน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดสรรงบประมาณเฉลี่ยปีละ 1,000 คัน นอกจากนี้ องค์กรเอกชน ทั้งองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรและองค์กรที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของรัฐ ทั้งในและต่างประเทศที่ได้จัดหาเก้าอี้ล้อเข็นแก่ผู้พิการโดยเฉลี่ยปีละ 3,000 คัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้พิการที่มีความจำเป็นและต้องการใช้เก้าอี้ล้อเข็นในแต่ละปี
       มูลนิธิศูนย์มิตรภาพมนุษย์ล้อเอเชีย (ประเทศไทย) หรือ WAFCAT ร่วมกับสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ มูลนิธิคนพิการไทย สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อเด็กพิการกำหนดจัดสัมมนา "แนวทางการให้บริการเก้าอี้ล้อเข็น ( วีลแชร์ ) แก่คนพิการ ประจำปี 2560" ระหว่างวันที่ 19 ถึง 21 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมเพิรส์ รีสอร์ทแอนด์โฮเทล อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยงานสัมมนาดังกล่าวจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้สำคัญๆ เกี่ยวกับการให้บริการเก้าอี้ล้อเข็นแก่คนพิการ เช่น ระเบียบ สิทธิ สวัสดิการขั้นพื้นฐานที่สามารถขอรับเก้าอี้ล้อเข็นจากหน่วยงานของรัฐ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) สิทธิผู้ประกันตน และสิทธิข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ แนวทางการได้บริการเก้าอี้ล้อเข็นแบบขับเคลื่อนด้วยแรงคนในพื้นที่ที่มีทรัพยากรจำกัด ( Guidelines on the provision of manual wheelchairs in less resource settings) ขององค์การอนามัยโลก ( WHO) และเวทีเสวนาระหว่างผู้อำนวยการสถาบันสิรินธร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งขาติ (สปสช.) เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งผู้พิการที่ใช้เก้าอี้ล้อเข็นด้วย
       การสัมมนาจัดขึ้น 3 วัน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวน 200 คน จากศูนย์การศึกษาพิเศษในประเทศไทย จำนวน 100 คน และจากสมาคมชมรมผู้พิการทางการเคลื่อนไหว จำนวน 100 คน คาดว่าการสัมมนาครั้งนี้ จะนำมาซึ่งข้อมูลสำคัญด้านแนวทางการให้บริการเก้าอี้ล้อเข็นแก่คนพิการ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติต่อไป
 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก