ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

จ.อุบลราชธานี ขับเคลื่อนเครือข่ายพัฒนาศักยภาพป้องกันและควบคุมอาการดาวน์และธาลัสซีเมีย

วันที่ลงข่าว: 13/06/17

        วันนี้ (12 มิ.ย. 60) ที่โรงแรมลายทอง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพเขต 10 และสำนักงานเขตสุขภาพที่ 10 ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนเครือข่ายแบบบูรณาการและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการดำเนินงานป้องกันและควบคุมกลุ่มอาการดาวน์และธาลัสซีเมีย เขตสุขภาพที่ 10” ขึ้น โดยมี รองศาสตราจารย์คลินิกแพทย์หญิงวารุณี จินารัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 ร่วมด้วย นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข ผู้อำนวยการ ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ,นายแพทย์สุรพร ลอยหา สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 ,นายแพทย์แพทย์เรืองศิลป์ เถื่อนนาดี ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 10 พร้อมด้วยแพทย์ ผู้ให้บริการฝากครรภ์ ,ผู้ให้การปรึกษา ,นักเทคนิคการแพทย์ ,เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ ,เจ้าหน้าที่เวชระเบียน/ผู้บันทึกข้อมูล จากโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนในเขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 300 คน ร่วมในการประชุมในครั้งนี้ด้วย

         การดำเนินงานอนามัยแม่และเด็ก มีเป้าหมายเพื่อลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักดี สุขภาพแข็งแรง ลดความพิการแต่กำเนิด ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยทารกที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ประมาณ 1 ใน 3 เป็นโรคที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม หรือเป็นโรคพันธุกรรมโดยตรง ส่งผลให้เกิดความพิการเรื้อรังและการเสียชีวิตในวัยทารกและวัยเด็ก ในประเทศไทยโรคพันธุกรรม ที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางทางกรรมพันธุ์ที่มีอุบัติการณ์และความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง ในภาพรวมพบว่า ประชากรไทยเป็นพาหะธาลัสซีเมียโดยรวมเฉลี่ย ร้อยละ 50 สำหรับในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบค่าเฉลี่ยของการเป็นพาหะฮีโมโกลบินอีสูงที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 41.7 เบต้าธาลัสซีเมีย ร้อยละ 0.9 และอัลฟาธาลัสซีเมีย ร้อยละ 5.8 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบโรคพันธุกรรมที่เกิดจากโครโมโซมผิดปกติ : ดาวน์ซินโดรม โดยพบสถานการณ์ เด็กดาวน์ 1 : 800 ถึง 1 : 1,000 ของการคลอด ส่งผลให้เด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยเป็นโรคในกลุ่มอาการดาวน์ ปีละประมาณ 800 – 1,000 คน

        กรมอนามัยมีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ ให้มีการตั้งครรภ์คุณภาพ เป็นครอบครัวคุณภาพ เพื่อให้ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักดี สุขภาพแข็งแรง ลดความพิการแต่กำเนิด ในส่วนของเครือข่ายบริการสาธารณสุขในเขตสุขภาพที่ 10 ทั้ง 5 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร พบว่ามีการจัดเครือข่ายการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคทางพันธุกรรมในหญิงตั้งครรภ์ที่เข้มแข็ง ทั้งในส่วนของหน่วยตรวจทางห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ผู้ให้การปรึกษา ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพเขต 10 ร่วมกับและสำนักงานเขตสุขภาพที่ 10 จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนเครือข่ายแบบบูรณาการและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการดำเนินงานป้องกันและควบคุมกลุ่มอาการดาวน์และธาลัสซีเมียเขตสุขภาพที่ 10” เพื่อเตรียมความพร้อมการดำเนินงานตามโครงการฯ และพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความรู้/ทักษะในการให้การปรึกษา การตรวจคัดกรองและการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ การดูแลรักษา ตลอดจนการสร้างเครือข่ายและการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ

        ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนเครือข่ายแบบบูรณาการและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการดำเนินงานป้องกันและควบคุมกลุ่มอาการดาวน์และธาลัสซีเมีย เขตสุขภาพที่ 10” ในครั้งนี้ประกอบด้วย การบรรยายวิชาการและการฝึกทักษะการให้การปรึกษาทางพันธุศาสตร์ โดยวิทยากรทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ,มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ,กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ,สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ,โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก