ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ทหารชุมพร จัดโครงการอาชาบำบัดเสริมสร้างพัฒนา สมาธิ แก่เด็กและเยาวชน

วันที่ลงข่าว: 08/06/17

         ที่ดิโอโซน รีสอร์ท ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร กองพลทหารราบที่ 5 โดย กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 25 ร่วมกับดิโอโซน รีสอร์ทชุมพร เทศบาลเมืองชุมพร เอ็นเอสฟาร์มทับสะแก โรงเรียนปัญญานุกูล และศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดชุมพร จัดโครงการ "อาชาบำบัด" เพื่อเด็กและเยาวชนที่มีความผิดปกติทางร่างกาย ทางจิต และทางอารมณ์ หรือมีปัญหาสุขภาพโครงสร้างร่างกายผิดปกติ โรคสมาธิสั้น เด็กออทิสติกและกลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีปัญหาเช่นเดียวกัน โดยมีพันโท ภาคิน เกื้อกูล ผู้บังคับก่องพันทหารราบที่ 1 กรททหารราบที่ 25 พร้อมด้วยผู้บริหารดิโอโซน รีสอร์ทชุมพร ผู้เแทนเทศบาลเมืองชุมพร นักเรียน และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมโครงการ

        พันโท ภาคิน เกื้อกูล ผบ.ร.25 พัน 1 ค่ายเขตอุดมศักดิ์ กล่าวว่า โครงการอาชาบำบัด มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะในการขี่ม้า ฝึกสมาธิ และเสริมสร้างพัฒนาการที่ดี โดยมีกลุ่มเยาวชนเป้าหมายประกอบด้วย กลุ่มเยาวชนทั่วไปที่มีความสนใจฝึกขี่ม้าไม่จำกัดว่าชายหรือหญิง และกลุ่มเยาวชนที่เป็นเด็กพิเศษ ที่ต้องการบำบัดฟื้นฟูโดยใช้อาชาบำบัด ซึ่งจะมีการขยายผลไปสู่เยาวชนทั่วไปในพื้นที่จังหวัดชุมพรและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อเพิ่มโอกาสที่ดีในการเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีต่อไป

สำหรับอาชาบำบัด หรือการนำม้ามาช่วยในการบำบัด เรียกว่า Hippotherapy ซึ่งคำว่า Hippo มาจากภาษากรีก แปลว่า "ม้า" ส่วนคำว่า therapy แปลว่า "การบำบัด" มีงานวิจัยที่สนับสนุนให้เห็นถึงผลดีของอาชาบำบัดมากพอสมควร โดยมักได้ผลดีกับเด็กพิเศษกลุ่มที่มีความผิดปกติด้านระบบการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เช่น โรคสมองพิการหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ซีพี (C.P. ย่อมาจาก Cerebral Palsy) นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ในการบำบัดกลุ่มเด็กออทิสติกที่มีปัญหาทางด้านการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน

         โดยการอยู่บนหลังม้าได้ดีจะต้องมีการทรงตัวที่ดี มีสัมผัสที่แนบแน่นกับตัวม้า คือ ขาต้องหนีบไว้ข้างลำตัวม้าตลอด และมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการขี่ม้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นทักษะที่ได้เพิ่มขึ้นจากการขี่ม้าโดยอัตโนมัติ จังหวะการก้าวย่างของม้าใกล้เคียงกับจังหวะการก้าวเดินของมนุษย์ เมื่อเด็กพิเศษได้มีโอกาสนั่งบนหลังม้า ก็เปรียบเสมือนกับการได้ฝึกเดินด้วยตัวเอง นอกจากนี้การนั่งบนหลังม้า ยังเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้เคลื่อนไหวเป็นจังหวะ เพราะต้องขยับอิริยาบถตลอดเวลา ซึ่งสามารถช่วยลดอาการเกร็งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เสมือนการทำกายภาพบำบัดรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้เด็กยังได้ฝึกฝนการปรับตัวของสภาพร่างกายให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ได้รับจากการประคองตัวให้สามารถนั่งอยู่บนหลังม้าได้นั่นเอง โดยร่างกายจะมีการปรับตัวเองเป็นเสมือนกลไกอัตโนมัติ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นสัญชาตญาณความอยู่รอดของมนุษย์ที่พยายามจะรักษาสมดุลของร่างกายไม่ให้ตกลงมาจากหลังม้านั่นเอง

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก